การตรวจสุขภาพสำคัญมากกว่าที่คิด ช่วยให้ดูแลป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีเพื่อให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆโดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่มักสะสมความเรื้อรังจากพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นความป่วยที่รุนแรงตามมาในอนาคต
แม้จะตรวจสุขภาพแล้วยังไม่ป่วยในกลุ่มโรค NCDs แต่ผลตรวจที่ปรากฏแสดงว่าเกือบเสี่ยงโรค NCDs ก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs
โรค NCDs คืออะไร
กลุ่มโรค NCDs (Non – Communicable Diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ขาดความระมัดระวังเป็นเวลานาน สะสมและนำไปสู่โรค NCDs ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้สุขภาพแย่ลงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
กลุ่มโรค NCDs มีโรคใดบ้าง
กลุ่มโรค NCDs มีหลายโรค ได้แก่
- โรคเบาหวาน เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความผิดปกติของร่างกายในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติหรือดื้อต่ออินซูลิน โดยระดับน้ำตาลในเลือดปกติจะต้องน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมากกว่านี้ถือว่ามีความเสี่ยง โดยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดร่วมด้วย หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกับเส้นเลือดและระบบประสาท ร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้
- โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากการที่ค่าความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายของหลอดเลือดแดง ทั้งการแข็งตัว อุดตัน และหลอดเลือดแตกได้ นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอย่างหัวใจวาย อัมพาต สมองเสื่อม ฯลฯ ดังนั้นการควบคุมค่าความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงสำคัญ
- โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดมากกว่าปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย เป็นต้น ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร, ไตรกลีเซอไรด์ ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากปล่อยให้ไขมันในเลือดสูงเรื้อรัง ไขมันจะไปเกาะผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจนเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน อาจร้ายแรงถึงขั้นสมองขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจวายได้ในที่สุด
- โรคอ้วนลงพุง เกิดจากการสะสมไขมันในช่องท้องมากเกินไป ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญผิดปกติ นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ มะเร็ง เป็นต้น
- โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เกิดจากคราบไขมันไปเกาะที่บริเวณผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อัมพาต เป็นต้น
- โรคมะเร็ง เกิดจากการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดเนื้องอก และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ มะเร็งที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
- โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการขยายตัวของถุงลมที่แตกหรือมีการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้พื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอดลดลง ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจตื้นหรือไอเรื้อรัง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่
กลุ่มโรค NCDs ร้ายแรงแค่ไหน
แม้กลุ่มโรค NCDs จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ความเรื้อรังของโรคอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ที่น่าห่วงคือ จำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักจะขาดการดูแลสุขภาพของตนเอง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ป้องกันโรค NCDs ได้อย่างไร
การป้องกันกลุ่มโรค NCDS ทำได้โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด อาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ระวังไม่ให้เครียด ตรวจสุขภาพประจำปี และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ตรวจสุขภาพลดความเสี่ยงโรค NCDs ได้อย่างไร
การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นสำคัญมาก เพราะช่วยให้ค้นพบโรคและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงดูแลป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นหากตรวจแล้วยังไม่เป็นโรคในกลุ่ม NCDS แต่ผลการตรวจที่ได้มีค่าที่ปรากฏว่าเกือบจะเป็นโรคในกลุ่ม NCDS การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างมากในการลดความเสี่ยงโรคในกลุ่ม NCDS โดยเฉพาะโรคเบาหวานและไขมันในเลือดผิดปกติที่หากเรื้อรังรุนแรงอาจอันตรายจนถึงชีวิต