เช็กสุขภาพให้ไว แค่เกือบก็เสี่ยงโรค NCDs

3 นาทีในการอ่าน
หรือ
rifm-iconrifm-play-icon
ฟัง AI สรุปให้
เช็กสุขภาพให้ไว แค่เกือบก็เสี่ยงโรค NCDs

แชร์

การตรวจสุขภาพสำคัญมากกว่าที่คิด ช่วยให้ดูแลป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีเพื่อให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆโดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่มักสะสมความเรื้อรังจากพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นความป่วยที่รุนแรงตามมาในอนาคต

แม้จะตรวจสุขภาพแล้วยังไม่ป่วยในกลุ่มโรค NCDs แต่ผลตรวจที่ปรากฏแสดงว่าเกือบเสี่ยงโรค NCDs ก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs 

 

โรค NCDs คืออะไร

กลุ่มโรค NCDs (Non–Communicable Diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ขาดความระมัดระวังเป็นเวลานาน สะสมและนำไปสู่โรค NCDs ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้สุขภาพแย่ลงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

กลุ่มโรค NCDs มีโรคใดบ้าง

กลุ่มโรค NCDs มีหลายโรค ได้แก่ 

  • โรคเบาหวาน เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความผิดปกติของร่างกายในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติหรือดื้อต่ออินซูลิน โดยระดับน้ำตาลในเลือดปกติจะต้องน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมากกว่านี้ถือว่ามีความเสี่ยง โดยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดร่วมด้วย หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกับเส้นเลือดและระบบประสาท ร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้
  • โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากการที่ค่าความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายของหลอดเลือดแดง ทั้งการแข็งตัว อุดตัน และหลอดเลือดแตกได้ นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอย่างหัวใจวาย อัมพาต สมองเสื่อม ฯลฯ ดังนั้นการควบคุมค่าความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงสำคัญ
  • โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดมากกว่าปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย เป็นต้น ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร, ไตรกลีเซอไรด์ ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากปล่อยให้ไขมันในเลือดสูงเรื้อรัง ไขมันจะไปเกาะผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจนเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน อาจร้ายแรงถึงขั้นสมองขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจวายได้ในที่สุด
  • โรคอ้วนลงพุง เกิดจากการสะสมไขมันในช่องท้องมากเกินไป ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญผิดปกติ นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ มะเร็ง เป็นต้น
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เกิดจากคราบไขมันไปเกาะที่บริเวณผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อัมพาต เป็นต้น
  • โรคมะเร็ง เกิดจากการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดเนื้องอก และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ มะเร็งที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
  • โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการขยายตัวของถุงลมที่แตกหรือมีการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้พื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอดลดลง ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจตื้นหรือไอเรื้อรัง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่

กลุ่มโรค NCDs ร้ายแรงแค่ไหน

แม้กลุ่มโรค NCDs จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ความเรื้อรังของโรคอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ที่น่าห่วงคือ จำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักจะขาดการดูแลสุขภาพของตนเอง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เช็กสุขภาพให้ไว แค่เกือบก็เสี่ยงโรค NCDs

ป้องกันโรค NCDs ได้อย่างไร

การป้องกันกลุ่มโรค NCDS ทำได้โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด อาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ระวังไม่ให้เครียด ตรวจสุขภาพประจำปี และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ตรวจสุขภาพ ลดความเสี่ยงโรค NCDs ได้อย่างไร

การตรวจสุขภาพเชิงลึก NCDs มีความสำคัญมาก เพราะช่วยค้นหาโรคตั้งแต่ระยะแรก และช่วยให้สามารถวางแผนป้องกันก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย นอกจากนี้ ยังช่วยประเมินแนวโน้มความเสี่ยงของโรคกลุ่ม NCDs เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น หากค่าผลตรวจออกมาใกล้เคียงกับภาวะผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นโรค การปรับแผนการดูแลรักษาสุขภาพเฉพาะบุคคล ตามไลฟ์สไตล์และภาวะสุขภาพของแต่ละคน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันโรคกลุ่ม NCDs อย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มต้นดูแลสุขภาพของคุณวันนี้ เพราะโรคเรื้อรังป้องกันได้ เพียงแค่เริ่มต้นจากการตรวจสุขภาพที่ใช่!
ผลตรวจสุขภาพไม่ปกติ? อย่าปล่อยผ่าน! อาจเป็นสัญญาณของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ซ่อนอยู่โดยที่คุณไม่รู้ตัว

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แชร์

แชร์