จอตาลอก

6 นาทีในการอ่าน
จอตาลอก

รู้จักจอประสาทตา

จอตาหรือจอประสาทตา (Retina) เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่บุอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง  ประกอบด้วยเซลล์รับแสงและเซลล์ประสาทอื่น ๆ จำนวนหลายล้านเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่รับแสงและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้เรามองเห็นภาพต่าง ๆ ได้  ถ้าเปรียบเทียบลูกตากับกล้องถ่ายรูป จอตาเปรียบได้กับฟิล์มถ่ายรูป หากฟิล์มเสื่อมสภาพย่อมทำให้รูปภาพไม่คมชัด เช่นเดียวกับจอตาหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะส่งผลให้ความคมชัดในการมองเห็นภาพลดลง

ภาวะจอตาลอก

จอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) คือ ภาวะที่จอตาหลุดลอกออกจากผนังลูกตาด้านหลัง ซึ่งเป็นชั้นของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจอตา ทำให้จอตาบริเวณนั้นขาดสารอาหารและออกซิเจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นาน เซลล์ประสาทอาจจะเสื่อมและตายจากการขาดเลือด จอตาบริเวณดังกล่าวอาจจะสูญเสียการทำงานอย่างถาวร

ชนิดของจอตาลอก

จอตาลอกมี 3 ชนิด ได้แก่
  1. จอตาลอกชนิดที่มีรูฉีกขาดของจอตา (Rhegmatogenous Retinal Detachment – RRD) พบได้บ่อยที่สุด การมีรูฉีกขาดที่จอตา ทำให้ของเหลวในวุ้นตาแทรกซึมเข้าไปใต้จอตาและเกิดจอตาลอก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะจอตาลอกชนิดนี้เนื่องจากพบได้บ่อยและเป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน
  2. จอตาลอกชนิดที่เกิดจากพังผืดดึงรั้ง (Tractional Retinal Detachment – TRD) เกิดจากการมีเนื้อเยื่อพังผืดดึงรั้งที่ผิวจอตา ทำให้จอตาหลุดลอกจากผนังลูกตาด้านหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตาระยะท้ายที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติและมีเลือดออกในวุ้นตา ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของวุ้นตาหรือจอตาอย่างรุนแรงจนเกิดชั้นพังผืด หรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตาที่ทำให้ลูกตาแตกหรือทะลุมาก่อน
  3. จอตาลอกชนิดที่เกิดจากสารน้ำรั่วขังใต้จอตาโดยไม่มีรูฉีกขาดที่จอตา (Exudative Retinal Detachment – ERD) มักเกิดจากการอักเสบ เนื้องอกในตา หรืออุบัติเหตุ ทำให้มีสารน้ำรั่วซึมจากหลอดเลือดสะสมอยู่ใต้ชั้นจอตา

 

จอตาลอกชนิดมีรูฉีกขาดของจอตา

จอตาลอกชนิดที่มีรูฉีกขาดของจอตา (Rhegmatogenous Retinal Detachment – RRD) เกิดขึ้นจากการที่ภายในลูกตาส่วนหลังมีวุ้นตาซึ่งเป็นของเหลวใสคล้ายเจลแนบติดกับจอตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาเสื่อมสภาพเหลวเป็นน้ำมากขึ้นจึงมีการหดตัวและลอกตัวออกจากจอตา ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ เรียกว่า ภาวะวุ้นตาเสื่อม (Posterior vitreous detachment-PVD) 

แต่ในบางครั้งขณะวุ้นตาลอกตัว วุ้นตาอาจติดแน่นกับจอตา บางบริเวณจึงเกิดแรงดึงรั้งจนทำให้จอตาฉีกขาด (Retinal Tear)  โดยเฉพาะบริเวณที่จอตาบางผิดปกติ (Lattice Degeneration) ซึ่งมักเป็นบริเวณริมขอบจอตา (Peripheral Retina) จะเกิดการฉีกขาดได้ง่ายขึ้น หากน้ำในวุ้นตาไหลผ่านรูฉีกขาดเข้าไปใต้จอตา จะทำให้เกิดจอตาหลุดลอก (Retinal Detachment)

ปัจจัยเสี่ยงจอตาลอก

  • อายุ
  • ประวัติจอตาลอกในตาอีกข้าง
  • ประวัติจอตาลอกในครอบครัว
  • สายตาสั้นมาก
  • เคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น
  • เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทางตา
  • จอตาบางผิดปกติ (Lattice Degeneration)

อาการจอตาลอก

อาการจอตาลอกมักเกิดแบบฉับพลัน แต่บางคนอาจไม่สังเกตอาการผิดปกติในระยะแรก หากจอตาลอกเป็นมากขึ้น อาการจะปรากฏชัดเจนขึ้น ซึ่งอาการที่บ่งบอกถึงภาวะจอตาลอก ได้แก่

  • เห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ (Floaters) ในตาจำนวนมากอย่างเฉียบพลัน
  • เห็นแสงคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช (Flashing) ในตาข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • ตามัวลง 
  • เห็นเงาดำลักษณะคล้ายม่านมาบดบังการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมด

ตรวจวินิจฉัยจอตาลอก

หากมีอาการผิดปกติควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด โดยหลังจากหยอดยาขยายรูม่านตา จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือและเลนส์ชนิดพิเศษเพื่อส่องตรวจจอตาโดยรอบ ถ้าตรวจไม่พบรูฉีกขาดที่จอตาและยังไม่มีจอตาลอก แพทย์จะนัดอีกครั้งภายใน 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจซ้ำให้แน่ใจว่าไม่มีรูฉีกขาดหรือจอตาลอกจริง ภายหลังการขยายรูม่านตาจะมีอาการตามัวสู้แสงไม่ได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงจนกว่ารูม่านตาจะหดกลับมาเป็นปกติ หลังจากนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเป็นมากขึ้นควรพบจักษุแพทย์โดยทันที

กรณีที่จักษุแพทย์ไม่สามารถมองเห็นจอตาด้วยเครื่องมือธรรมดาได้ เช่น มีเลือดออกในวุ้นตา อาจต้องใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ophthalmic Ultrasound) มาช่วยในการวินิจฉัยจอตาลอก

รักษารูฉีกขาดที่จอตา

รูฉีกขาดที่จอตาสามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ (Laser Photocoagulation) หรือจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) บริเวณรอบรูฉีกขาดที่จอตา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านรูฉีกขาดจนเกิดเป็นจอตาลอก การรักษาสามารถรักษาแบบไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หลังการรักษาควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจมีแรงกระแทกหรืออาจกระทบกระเทือนต่อดวงตาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดรอยแผลยึดแน่นบริเวณรูฉีกขาดที่จอตาก่อน

ผ่าตัดจอตาลอก

จอตาลอกมักจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด  ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของจอตาลอก โดยอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

  • การยิงเลเซอร์เพียงอย่างเดียว อาจใช้ได้ในรายที่มีจอตาลอกขนาดเล็กบริเวณริมขอบจอตาด้านข้างเท่านั้น ถ้าจอตาลอกเป็นบริเวณกว้างจะไม่สามารถยิงเลเซอร์เพียงอย่างเดียวได้
  • การฉีดฟองแก๊สเข้าไปในตา ร่วมกับการยิงเลเซอร์หรือจี้ด้วยความเย็น (Pneumatic Retinopexy) หลังทำต้องจัดท่าทางที่เหมาะสมเป็นเวลาหลายวันเพื่อปิดรูฉีกขาดที่จอตาและรอน้ำใต้จอตาดูดซึม วิธีนี้สามารถใช้ได้ในบางกรณีเท่านั้น
  • การผ่าตัดจอตาลอก มี 2 วิธี ได้แก
  1. ผ่าตัดหนุนด้านนอกลูกตาด้วยยางหรือฟองน้ำซิลิโคน (Scleral Buckle)
  2. ผ่าตัดวุ้นตาและซ่อมจอตาภายในลูกตาโดยตรง (Pars Plana Vitrectomy PPV) วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันเพื่อตัดวุ้นตาลอกพังผืด (ถ้ามี) ซ่อมจอตาให้ติดกลับคืน ยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น หลังจากนั้นฉีดแก๊สเพื่อดันจอตาให้ติดเข้าที่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องคว่ำหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ แก๊สจะถูกดูดซึมจนหมดจากตาไปเอง ในกรณีที่ไม่สามารถคว่ำหน้าได้ อาจเลือกใช้น้ำมันซิลิโคน (Silicone Oil) แทนการใช้แก๊ส แต่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำเอาน้ำมันซิลิโคนออกในภายหลังเมื่อจอตาติดดีแล้ว

ความเสี่ยงจากการผ่าตัด

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดรักษาจอตาลอก ได้แก่

  • การติดเชื้อ
  • เลือดออกในตา
  • ความดันตาสูง อาจนำไปสู่ภาวะต้อหิน
  • เลนส์ตาขุ่นมากขึ้น (ต้อกระจก)
  • อาจต้องผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง
  • การผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ จอตาไม่ติดกลับเข้าที่
  • มีโอกาสเกิดจอตาลอกซ้ำ


ดูแลหลังผ่าตัดจอตา

  • ถ้าผ่าตัดฉีดแก๊สในตา จำเป็นต้องคว่ำหน้าหรือจัดท่าทางอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อให้จอตาติดและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น ต้อกระจก และห้ามเดินทางโดยเครื่องบินหรือไปในบริเวณที่สูงที่มีความกดอากาศต่ำมากจนกว่าแก๊สจะดูดซึมหมดจากตา เพราะแก๊สในตาจะขยายตัวอย่างมากและความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกดอัดจอตาและหลอดเลือดในจอตา เกิดจอตาขาดเลือดและเซลล์ประสาทตาตาย ทำให้ปวดตารุนแรงและตาบอดได้
  • อาจสังเกตเห็นจุดดำลอยไปมาในตา 1 – 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด หากผ่าตัดฉีดแก๊สในตาจะเห็นเงามืดจากฟองแก๊สในตา ซึ่งเงามืดจะค่อย ๆ ลดระดับลงไปเรื่อย ๆ จนหายไปภายในเวลา 4 สัปดาห์โดยประมาณ
  • ตาข้างที่ผ่าตัดอาจมีอาการระคายเคืองตาหรือไม่สบายตาได้ ไม่ควรขยี้ตา อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง หากมีอาการปวดอาจรับประทานยาแก้ปวดได้ แต่ส่วนมากอาการปวดหลังผ่าตัดมักไม่รุนแรง หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์
  • หลังผ่าตัดในช่วงสัปดาห์แรกอาจมีเยื่อบุตาขาวบวมแดง เปลือกตาบวม ซึ่งมักเป็นการอักเสบหรือเป็นการบวมจากการคว่ำหน้าที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด ควรใช้ยาหยอดตาตามแพทย์สั่ง หากมีขี้ตามาก ปวดตารุนแรง หรือการมองเห็นแย่ลง ควรรีบพบแพทย์
  • ควรครอบตาด้วยที่ครอบตาไว้เป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง ในเวลากลางวันอาจใช้แว่นตาหรือแว่นกันแดดได้
  • หลีกเลี่ยงน้ำเข้าตาในตาข้างที่ผ่าตัดประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อในตา
  • หลีกเลี่ยงการไอ จาม หรือเบ่งแรง ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดเลือดออกในตาได้
  • ควรพักผ่อนและงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนกับดวงตา
  • การมองเห็นจะไม่ดีขึ้นทันทีหลังผ่าตัด หากการผ่าตัดประสบความสำเร็จและจอตาติดดี การมองเห็นอาจดีขึ้นหลังจาก 4 – 6 สัปดาห์ ในบางรายการฟื้นตัวหลังผ่าตัดอาจใช้เวลานานถึง 2 – 3 เดือน


ลดความเสี่ยงจอตาลอก

  • พบจักษุแพทย์ตรวจตาและจอตาโดยหยอดยาขยายรูม่านตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีสายตาสั้นมากหรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ
  • ป้องกันอุบัติเหตุต่อดวงตาโดยการใส่แว่นป้องกัน (Safety Goggles) เมื่อทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือเล่นกีฬาบางอย่าง
  • รีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุดเมื่อมีอาการผิดปกติ

จอตาลอกถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นกลับคืนมาใกล้เคียงปกติได้การมองเห็นภายหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จอตาลอก หากจอตาลอกมานาน จอตาจะเสื่อมและมักเกิดพังผืด ทำให้ผลการผ่าตัดไม่ค่อยดีถึงแม้การผ่าตัดจะสามารถทำให้จอตาราบลงได้ บางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง หรือจอตาอาจไม่ติดกลับคืน การมองเห็นมักจะไม่ค่อยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจอตาลอกเป็นบริเวณกว้างจนถึงจุดรับภาพชัด ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจตาโดยเร็วและควรตรวจตาทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เนื่องจากประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมีโอกาสเกิดจอตาฉีกขาดหรือจอตาลอกในตาอีกข้างตามมาได้

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล