เพราะการลดน้ำหนักต้องอาศัยวินัยและวิธีการที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ บางคนทำมาทุกวิธีน้ำหนักไม่ลดลง บางคนยิ่งลดน้ำหนัก น้ำหนักกลับยิ่งเพิ่มขึ้น 5 เหตุผลต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรรู้เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการลดน้ำหนักให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ
1) ขาดแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนัก
เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะประโยคที่มักได้ยินบ่อย ๆ คือ “ไม่รู้จะลดน้ำหนักไปทำไม” ฟังก็รู้เลยว่าไม่มี Passion ในการลดน้ำหนัก แต่เวลาที่ทำอะไรยาก ๆ แล้วสำเร็จ จะรู้เลยว่าถ้ามี Passion ต่อให้ยากแค่ไหนก็ทำได้ มีอุปสรรคมากแค่ไหนก็จะไม่เลิก การลดน้ำหนักก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมี Passion มากพอ รับรองว่าคุณสามารถทำได้ คุณควรหาเหตุผลโดนใจสักข้อว่าคุณอยากลดน้ำหนักไปทำไม เช่น ไม่อยากป่วยเป็นโรคอ้วนเพราะลูกยังเล็ก กลัวอยู่ไม่ถึงลูกรับปริญญา ฉันกำลังจะแต่งงาน ฉันต้องสวยที่สุดในวันสำคัญที่สุดในชีวิต รูปชุดแต่งงานจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เป็นต้น
2) เข้าใจผิดคิดว่ากินสิ่งนี้แล้วไม่อ้วน
ผลไม้เป็นอาหารอันดับ 1 ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ากินเยอะแล้วไม่อ้วน แต่ความจริงคือผลไม้มีน้ำตาลผลไม้ ซึ่งพลังงานไม่น้อย ขึ้นกับว่ากินมากแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ส้ม 1 ลูก (ผลเท่าลูกเทนนิส) มีพลังงานเท่ากับกินข้าวสวย 1 ทัพพี หรือกล้วยน้ำว้า 1 ลูก กล้วยหอมครึ่งลูก สับปะรด หรือแตงโม หรือมะละกอ 4 ชิ้น (ที่วางเต็มในจานรองแก้ว) แต่ละอย่างเท่ากับการกินข้าวสวย 1 ทัพพีเช่นกัน ลองคิดตามดูว่า ถ้าไม่กินข้าวเย็น แต่กินส้ม 5 ลูกแทน ก็แปลว่าเรากินข้าวสวยไป 5 ทัพพีโดยไม่ได้แตะข้าวเลย ลองคิดดูเองว่าเยอะไหม ต่อมาคืออาหารทอดและอาหารผัดทุกชนิด รวมถึงอาหารจานเดียว อาทิ ผัดไท ผัดซีอิ๊ว ผัดกะเพรา ฯลฯ น้ำมันที่ซ่อนอยู่ในอาหารพวกนี้เยอะมาก พลังงานจึงเยอะตามไปด้วย และถัดไปคือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชาเชียวขวดรสหวาน ชานมไข่มุก กาแฟใส่น้ำตาลใส่นม น้ำอัดลม ลองอ่านฉลากโภชนาการข้างขวดดูเห็นแล้วจะตกใจ อย่าปล่อยให้พังเพราะคำว่า “ไม่เป็นไรหรอก นิดเดียวไม่อ้วนหรอก”
3) ขี้เกียจออกกำลังกาย
ลองคิดตามดูว่า ถ้าคุมอาหาร กินน้อย แต่ไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปเผาก้อนไขมันที่อยู่ในตัวเราให้ออกมาได้ การออกกำลังกายยิ่งมากแค่ไหนก็เบิร์นไขมันออกมากเท่านั้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การคุมอาหาร ออกกำลังกายบ้างดีกว่าไม่ทำเลย เคล็ดลับคือ เริ่มต้นครั้งละสั้น ๆ เริ่มจาก 10 – 15 นาทีแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป้าหมาย ลองเลือกกิจกรรมที่ชอบหรือเคยทำได้ เช่น ปั่นจักรยานอยู่กับที่แล้วเปิดดูซีรีย์ไปด้วย แป๊บเดียวก็ครบเวลาที่เราตั้งไว้แล้ว จำไว้ว่า “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย”
4) เครียดมากหาทางออกด้วยการกิน
อารมณ์มีอิทธิพลต่อการกินอย่างมาก เชื่อว่าทุกคนเคยเป็น เช่น ทำงานหนัก ใช้สมองเหนื่อยมาก เครียดมาก ต้องการผ่อนคลายด้วยการกินบิงซูชามใหญ่ เค้กชิ้นโต ไอศกรีมสัก 3 – 4 ลูก เมื่อใช้การกินเป็นวิธีคลายเครียด แน่นอนว่าเราจะกินมากกว่าปกติ เพราะกว่าสมองจะหายเครียดจากการกินอาหาร ร่างกายก็ได้รับพลังงานไปมากมายแล้ว ควรกลับมาถามตัวเองสักนิดว่า เรามีวิธีคลายเครียดวิธีอื่นนอกจากการกินไหม เช่น ออกกำลังกาย คลายเครียดได้แถมลดน้ำหนักได้อีก หรือจะดูหนัง ดูซีรีย์ แต่อย่าดูไปกินไป หรือวิธีง่าย ๆ ที่ได้ผลเร็ว อยากให้ลองทำเพื่อคลายเครียด คือ นั่งสมาธิ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ ช้า ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เพียง 1 นาทีก็เห็นผล ถ้าทำต่อหลายนาที หายเครียดแน่นอน ท่องไว้ว่า “ถ้าเครียดไม่กิน ให้ออกกำลัง และหายใจลึก ๆ”
5) ลดน้ำหนักแบบตึงเกินไป
บางคนลดน้ำหนักได้แล้ว แต่ทำได้แป๊บเดียวก็เลิกทำในที่สุด เพราะตึงเกินไปจนรู้สึกเครียดและท้อ ทำแล้วไม่มีความสุข เครียดกว่าเดิม บางคนคิดว่าทำงานหรือเรียนเครียดอยู่แล้วต้องเครียดกับการคุมอาหารอีก ซึ่งการลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การลดอย่างรวดเร็ว เช่น ลด 10 กิโลกรัมในเวลา 1 – 2 เดือน เมื่อลดได้แล้วก็เลิกทำไป แต่สิ่งสำคัญคือความสุขในระหว่างที่ลดน้ำหนัก ถ้าบาลานซ์ได้ดีระหว่างความสุขจากกิน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ น้ำหนักตัวที่เหมาะสม จะประสบความสำเร็จในระยะยาว อีกประเด็นคือ บางคนตั้งใจคุมอาหารอย่างดี ออกกำลังกายก็ดี แต่น้ำหนักลดน้อยหรือไม่ลดเพิ่ม ทำให้เสียกำลังใจ ท้อ ไม่อยากทำแล้วจึงเลิกทำ กลับไปไม่คุมอาหารอะไรเลย หยุดออกกำลังกาย น้ำหนักก็พุ่งกลับมารวดเร็ว ซึ่งคนเรามีพันธุกรรมไม่เหมือนกัน การเผาผลาญไม่เท่ากัน แม้ว่าเราจะกินอาหารและออกกำลังกายเท่ากันกับเพื่อน น้ำหนักอาจจะลดน้อยกว่าเพื่อนก็ได้ แต่ควรทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ในที่สุดน้ำหนักจะลดได้เอง ถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็งไม่หยุดจนกว่าจะถึงเส้นชัย อย่าลืมว่าลดน้ำหนักต้องมีความสุข ถ้าไม่ลดเราไม่เลิก หรือถ้าแม้ว่า (ยัง) ไม่ลด (แต่ก็) ไม่เลิก
หลายครั้งที่การลดน้ำหนักเพียงลำพังอาจไม่สำเร็จเพราะขาดตัวช่วย การปรึกษาผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาลอาจเป็นคำตอบที่คุณกำลังตามหา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมช่วยหาสาเหตุของภาวะอ้วนที่อาจแฝงอยู่ ประเมินและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน พิจารณาการรักษาที่นำไปสู่ความสำเร็จในการลดน้ำหนัก นักกำหนดอาหารที่คอยช่วยประเมินอาหาร กำหนดชนิดและปริมาณอาหารให้เหมาะสมในแต่ละวัน นักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ช่วยแนะนำการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ทั้งชนิด ความหนักเบา การเพิ่มกล้ามเนื้อ การลดปริมาณไขมันในร่างกาย และพยาบาลผู้ให้ความรู้ที่พร้อมดูแลประเมินพฤติกรรมการกิน อุปสรรคของการลดน้ำหนัก หาวิธีคลายเครียด ร่วมกันตั้งเป้าหมาย และให้กำลังใจในการลดน้ำหนัก เนื่องในวัน World Obesity Day หรือวันอ้วนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี อยากให้ทุกคนทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดภาวะอ้วน เพื่อการมีสุขภาพดีและอายุที่ยืนยาว