ภาวะการกลั้นปัสสาวะลำบากในผู้สูงวัย
ภาวะการกลั้นปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัยนับเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน และก่อให้เกิดความกังวลใจในการเข้าสังคม
อาการบอกโรค
ความรุนแรงของอาการ เริ่มตั้งแต่การมีปัสสาวะหยดมาเปื้อนกางเกงในปริมาณที่ไม่มากนัก ไปจนถึงมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาเป็นปริมาณมาก บางครั้งอาจมีอุจจาระเล็ดร่วมด้วย ผู้สูงวัยบางท่านแม้ยังไม่เริ่มมีอาการดังกล่าวแต่ก็อาจเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น- ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
- ปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกอยากปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา
ปัจจัยควบคุมปัสสาวะ
โดยปกติแล้วการควบคุมการปัสสาวะต้องอาศัยปัจจัยดังต่อไปนี้
- ศูนย์สั่งการการปัสสาวะและระบบประสาทบริเวณสมองและไขสันหลังที่ดี
- กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและหูรูดบริเวณท่อปัสสาวะที่แข็งแรง
- ลักษณะทางกายวิภาคและสรีระวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะที่ปกติ
- สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปัสสาวะ
การทำงานของกระเพาะปัสสาวะในผู้สูงวัย
เมื่ออายุเริ่มเพิ่มขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ
- การทำงานของกระเพาะปัสสาวะเริ่มเสื่อมลง บางรายอาจมีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะบ่อยเกินไป โดยไม่สามารถควบคุมได้ หรือในทางกลับกันอาจบีบตัวได้น้อยเกินไปก็เป็นได้
- กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและหูรูดเริ่มเสื่อมสภาพ ไม่สามารถหดตัวหรือคลายตัวได้ตามปกติ โดยเฉพาะในเพศหญิงที่ผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคลอดตามธรรมชาติหรือการผ่าตัดคลอดบุตรก็ตาม
- ปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากปัสสาวะไปแล้วมีปริมาณมากกว่าคนปกติ
- ในเพศชาย ภาวะที่พบบ่อย คือ ต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ดได้
- มีการสร้างปัสสาวะในช่วงเวลากลางคืนมากขึ้น
ประเภทของอาการปัสสาวะเล็ด
- อาการปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการไอ จาม เบ่ง (Stress Incontinence)
- อาการมักเกิดในผู้ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและหูรูดลดลง แม้ความจุของกระเพาะปัสสาวะยังไม่เต็มที่ก็เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้เพียงแค่ออกแรงเบ่ง ไอ จามเพียงเล็กน้อย
- อาการปัสสาวะเล็ดช่วงที่มีอาการอยากปัสสาวะ (Urge Incontinence)
- สาเหตุมักเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยครั้งเกินไปโดยควบคุมไม่ได้ ส่วนใหญ่เกิดจาก
- ปัญหาของการเชื่อมโยงระบบประสาทสั่งการจากสมองและไขสันหลังมายังระบบปัสสาวะ เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก พาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อม การได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
- ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะเอง เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่ว เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
- อาการปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการไอ จาม เบ่งและช่วงที่มีอาการอยากปัสสาวะ (Mixed Incontinence)
- สาเหตุเกิดจากโรคทางระบบประสาทและสมองและภาวะความจำเสื่อมขั้นรุนแรง หรือปัญหาโรคทางจิตเวช
- อาการปัสสาวะเล็ดเมื่อความจุของกระเพาะปัสสาวะขยายเต็มที่แล้ว (Overflow Incontinence)
- สาเหตุเกิดจากปัญหาของลักษณะทางกายวิภาคและสรีระวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ต่อมลูกหมากโต มีท่อปัสสาวะตีบ
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง โรคเบาหวาน
- ปัญหาทางระบบประสาทอื่น ๆ
- ผลข้างเคียงจากยาที่รับประทานเป็นประจำ
ดูแลผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะลำบาก
- ปรึกษาแพทย์พร้อมนำยาที่ใช้รับประทานเป็นประจำมาให้แพทย์ดู เนื่องจากภาวะปัสสาวะเล็ดในแต่ละแบบมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน
- เขียนชื่อโรคประจำตัวเก็บไว้กับตัวผู้สูงอายุเสมอและนำมาให้แพทย์ดูทุกครั้ง
- งดดื่มสุรา กาแฟ ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
- หากเป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียงตลอด แนะนำให้ผู้ดูแลจดบันทึกปริมาณปัสสาวะ ลักษณะ สี และจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยปัสสาวะไว้ทุกครั้ง รวมถึงปริมาณและความถี่ของการสวนเก็บปัสสาวะด้วย
- หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้ผู้ดูแลให้พยายามทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักให้สะอาดและแห้งทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ หรือแผลติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณข้างเคียง
- หากเป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียงตลอด หลีกเลี่ยงการคาสายสวนปัสสาวะไว้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็น เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น หากจำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะจริง ๆ ควรสวนเก็บเป็นครั้ง ๆ ไปตามรอบในแต่ละวัน และควรใช้เทคนิคที่สะอาดปลอดเชื้อในการสวนเก็บปัสสาวะทุกครั้ง