ศูนย์อุบัติเหตุ

โภชนาการในผู้ป่วยระยะฟื้นฟู

ภาวะเจ็บป่วยวิกฤติ ทำให้เกิดกระบวนการแคแทบอลิซึม (Catabolism) สูง ทำให้ร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อ (Lean Body Mass) มีรายงานว่าผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่วิกฤติจะเสียมวลกล้ามเนื้อสูงถึงวันละ 1 กิโลกรัม ในขณะที่ผู้ป่วยวิกฤติอื่น ๆ จะเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างมีนัยสำคัญภายใน 7 – 10 วันแรกของการเจ็บป่วย ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย การเคลื่อนไหวร่างกายได้ลดลง หายใจลำบาก และคุณภาพชีวิตแย่ลง การให้โภชนบำบัดในเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอจะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี

หลังออกจากหอผู้ป่วยวิกฤติ ผู้ป่วยจะต้องการพลังงานและโปรตีนที่สูงขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและป้องกันการสูญเสียเพิ่ม มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยต้องการพลังงานสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่าของความต้องการของร่างกายขณะพัก ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำหรือแนวทางของการให้พลังงานและโปรตีนในระยะฟื้นฟู แต่จาก Minnesota Starvation Study ที่ทำการศึกษาในคนสุขภาพดี พบว่าหลังอดอาหารจะต้องการพลังงานสูงถึงวันละ 3,000 – 4,500 กิโลแคลอรี่ ต้องการโปรตีน 1.5 – 2.5 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว

ผู้ป่วยที่เสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงจำเป็นต้องบริโภคอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงและมีสารอาหารที่เพียงพอนานเป็นเดือนหรือเป็นปี

ความต้องการพลังงาน โปรตีน และสารอาหารในผู้ป่วยระยะฟื้นฟู

พลังงาน

หลังเจ็บป่วยร่างกายจะต้องการพลังงานสูงขึ้นเพื่อฟื้นฟูน้ำหนักตัวที่ลดลงในระหว่างเจ็บป่วย แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยมักมีความอยากอาหารที่ลดลง หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ ท้องผูกจากยาแก้ปวด และมักขาดความเข้าใจในการบริโภคอาหารให้เพียงพอ มีรายงานว่าผู้ป่วยวิกฤติหลังถอดเครื่องช่วยหายใจจะรับประทานอาหารได้เพียง 700 กิโลแคลอรี่ต่อวันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 50 ของความต้องการของร่างกาย การดื่มอาหารทางการแพทย์เสริมเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและโปรตีนเพียงพอ โดยอาหารเหล่านี้จะมีสัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะสมและมีวิตามินแร่ธาตุครบถ้วน สามารถใช้แทนอาหารทั่วไป สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารทางปากได้ไม่เพียงพอ เช่น นีโอมูน กลูเซอร์นา บูทออพติมัม เป็นต้น


 
โปรตีน

ในภาวะปกติร่างกายต้องการโปรตีน 0.8 – 1 กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว แต่หลังจากเจ็บป่วย ร่างกายจะต้องการโปรตีนที่สูงขึ้นเป็น 1.5 – 2.5 กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยฟื้นฟูภูมิคุ้มกันและกล้ามเนื้อ สามารถช่วยให้กระดูกติดได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนสูงถึง 90 – 150 กรัมต่อวัน เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ 25 – 40 ช้อนโต๊ะต่อวัน ในผู้ป่วยที่เบื่ออาหารให้ลองบริโภคโปรตีนปริมาณน้อย ๆ ในมื้อหลักและมื้อว่าง ปลานึ่ง ไข่ ไก่อบ โยเกิร์ตเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดีและย่อยง่าย สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัตสามารถเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดีจากถั่วเหลือง ในปัจจุบันนมอัลมอนด์ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่มักมีโปรตีนที่ต่ำกว่านมวัวหรือนมถั่วเหลือง

 
วิตามินซีและสังกะสี

วิตามินซีจำเป็นสําหรับการสร้างโปรตีนที่ชื่อว่าคอลลาเจน ช่วยซ่อมแซมเส้นเอ็นและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น แหล่งที่ดีของวิตามินซี ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว สตรอว์เบอร์รี กีวี มันฝรั่งอบ บรอกโคลี และพริกหวาน

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่พบในเนื้อสัตว์ ปลา เนื้อเป็ด ไก่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม และพบในธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดธัญพืช


วิตามินดีและแคลเซียม

วิตามินดีและแคลเซียมเป็นสารอาหารที่ส่งเสริมให้กระดูกสุขภาพดี หากผู้ป่วยมีกระดูกหักควรบริโภคแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ แหล่งอาหารที่ดีของแคลเซียม ได้แก่ นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่เสริมแคลเซียม หากดื่มนมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย 2 กล่องต่อวันจะได้รับแคลเซียมเพียงพอ

ร่างกายได้วิตามินดีจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนัง หลังจากได้รับแสงแดด และจากอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น นม น้ำมันตับปลาเป็นต้น โยเกิร์ตบางยี่ห้อจะเสริมวิตามินดี สามารถดูได้ในฉลากโภชนาการ


ใยอาหาร

หลังเจ็บป่วยหรือหลังผ่าตัด ผู้ป่วยมักได้รับยาบรรเทาอาการปวด ซึ่งยาเหล่านี้มักทำให้ท้องผูก การบริโภคใยอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยบรรเทาและป้องกันท้องผูกได้ แหล่งที่ดีของใยอาหาร ได้แก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก ถั่วและเมล็ดธัญพืช แนะนำให้บริโภคผลไม้วันละ 3 – 5 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วนเทียบเท่ากล้วยน้ำว้า 1 ผลกลาง ส้ม 1 ผลกลาง มะละกอสุก 6 – 8 ชิ้นคำ) และผักวันละ 4 -6 ทัพพี พรุน และน้ำลูกพรุนมีฤทธิ์ระบายตามธรรมชาติ (ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอด้วย)

 
ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นในระหว่างและหลังการเจ็บป่วย การขาดน้ำจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อ่อนแรง ปวดศีรษะเล็กน้อยและคลื่นไส้ ผู้ป่วยอาจเสียน้ำจากการรับประทานอาหารน้อย ท้องเสีย และอาเจียน ผู้ป่วยควรดื่มน้ำ 8 – 10 แก้วต่อวัน ซึ่งรวมถึงน้ำในอาหารและเครื่องดื่มด้วย เช่น น้ำแกง น้ำผลไม้ นม ฯลฯ

 


Ref.

  1. Zanten et al., Nutrition therapy and critical illness: practical guidance for the ICU, post-ICU, and long-term convalescence phases. Critical Care (2019) 23:368.
  2. Paul E. Wischmeyer. Tailoring nutrition therapy to illness and recovery. Crit Care. 2017; 21(Suppl 3): 316.

สอบถามเพิ่มเติมที่

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด