โปรแกรมฟื้นฟูผู้ป่วยหลังบาดเจ็บ
การเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ บางคนจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสูญเสียระดับความสามารถของร่างกายหรืออวัยวะ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง โปรแกรมฟื้นฟูผู้ป่วยหลังบาดเจ็บ (Traumatic Rehabilitation) จึงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นและลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลลง (Length of Stay) โดยบุคลากรที่มีความชำนาญ ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา และสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบทบาทในการตรวจประเมินและวางแผนโปรแกรมการฟื้นฟูที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการกำหนดเป้าหมายและกระบวนการฟื้นฟูเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษา
ฟื้นฟูผู้ป่วยระยะหลังบาดเจ็บ
การฟื้นฟูผู้ป่วยหลังเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บแบ่งเป็นระยะตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ดังนี้
- การฟื้นฟูผู้ป่วยในระยะวิกฤติ (Critical Care Unit)
ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในระยะนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่าย เช่น ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากการใส่ท่อช่วยหายใจ มีเสมหะคั่งค้าง ประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินหายใจและปอดลดลง ภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บและการนอนนาน ความเสี่ยงในการเกิดก้อนเลือดดำอุดตัน ฯลฯ- เป้าหมายหลักในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยในระยะนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตนเองได้เร็วที่สุด โปรแกรมการฟื้นฟูประกอบด้วย
- การทำกายภาพบำบัดทรวงอก (Chest Physical Therapy) ช่วยระบายเสมหะด้วยวิธีการทางด้านกายภาพบำบัด เช่น การจัดท่าเพื่อระบายเสมหะ การสั่นปอด การเคาะปอด การฝึกไอ การช่วยดูดเสมหะ เป็นต้น
- การฝึกหายใจและการออกกำลังกล้ามเนื้อ ช่วยในการหายใจอย่างถูกวิธีให้ผู้ป่วยหายใจเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การดูแลรักษาอาการปวด (Pain Management)
นอกจากผู้ป่วยที่มีปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทจะได้รับการรักษาด้วยยา ในส่วนของกายภาพบำบัดสามารถให้การดูแลรักษาด้วยเทคนิคและอุปกรณ์ทางด้านกายภาพบำบัดต่าง ๆ ดังนี้- การฝึกหายใจและการฝึกผ่อนคลาย
- การติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวด
- การวางประคบร้อนหรือเย็นเพื่อลดอาการปวดและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- การนวดทางการแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการปวดและผ่อนคลาย
- การฝึกผู้ป่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวบนเตียง (Bed Mobility and Activity Daily Life Training)
สำหรับผู้ป่วยที่อาการคงที่แล้ว การเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายให้เร็วช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น นักกายภาพบำบัดจะแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มออกกำลังกายและเคลื่อนไหวบนเตียงอย่างเหมาะสม เช่น- การออกกำลังกายแขนและขา
- การพลิกตะแคงตัว
- การเลื่อนตัวบนเตียง
- การเปลี่ยนท่านอนอย่างถูกต้อง
- การกระตุ้นให้ผู้ป่วยลุก นั่ง ยืน เดิน
เมื่อผู้ป่วยมีความพร้อมควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยเริ่มมีการลุก นั่ง ยืน เดินภายในห้องผู้ป่วย เพื่อตรวจประเมินการตอบสนองของร่างกายในการทำกิจกรรม และเตรียมความพร้อมผู้ป่วยในการย้ายไปพักฟื้นในหอผู้ป่วย - การตรวจประเมินการกลืน
นักกิจกรรมบำบัดจะเข้าตรวจประเมินความสามารถของการกลืนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองและผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือสายให้อาหารเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการกลืน - การตรวจประเมินด้านการรับรู้และความเข้าใจ
เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมองหรือผู้ป่วยหนักที่นอนรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤติเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการรับรู้และความเข้าใจ ดังนั้นนักกิจกรรมบำบัดจะเข้าไปประเมินเพื่อวางแผนและให้คำแนะนำโปรแกรมการฝึกสำหรับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมในแต่ละบุคคล
ฟื้นฟูผู้ป่วยระยะพักฟื้น
ในระยะพักฟื้นผู้ป่วยจะได้รับการกระตุ้นให้ออกกำลังกายและฝึกการทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มมากขึ้น โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดจะตรวจประเมินระดับความสามารถของร่างกายและอาการของผู้ป่วยที่เน้นให้มีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยเดินมากขึ้น ฝึกปั่นจักรยานออกกำลังกาย ฝึกการทรงตัว เป็นต้น
เตรียมพร้อมก่อนกลับบ้าน
ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลผู้ป่วยและญาติจะได้รับคำแนะนำจากทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมกลับบ้าน (Discharge Planning) ให้ผู้ป่วยและญาติมีความรู้ ฝึกปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ดูแลตัวเองให้ถูกต้อง ตลอดจนวางแผนปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของบ้าน เตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน
ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของบ้าน
การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและปรับลักษณะของบ้าน (Safety in the house) ให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติจะได้รับคำแนะนำในการปรับสภาพบ้านและอุปกรณ์ภายในบ้านให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วย