ฝีคัณฑสูตรไม่ใช่ริดสีดวงมีหนองอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ และหลายคนอาจไม่คุ้นหูกับโรคนี้ ทั้งที่ทุกคนสามารถเป็นได้ เพราะฝีคัณฑสูตรเป็นการติดเชื้อบริเวณแก้มก้นเชื่อมต่อกับทวารหนักจนเกิดการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง อาจมีเลือดออกทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นริดสีดวงและรักษาไม่ถูกวิธี การรู้เท่าทันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเป็นฝีคัณฑสูตรแล้วควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกวิธี และรวดเร็วก่อนจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น
รู้จักโรคฝีคัณฑสูตร
โรคฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula หรือ Fistula – in – ano) หรือฝีเรื้อรังที่ก้น คือ โรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก บริเวณแก้มก้น หรือรอบปากทวารหนัก จากการติดเชื้อของต่อมที่มีหน้าที่ผลิตมูก (Anal Gland) บริเวณทวารหนักจากเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระ และของเสียหมักหมมจนเกิดเป็นฝีหนอง เมื่อหนองมีปริมาณมากขึ้นจะค่อย ๆ เซาะไปตามชั้นกล้ามเนื้อของทวารหนัก ทะลุมาชั้นผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก กลายเป็นทางเชื่อมระหว่างทวารหนักและผิวหนังภายนอก ที่เรียกว่า Fistula Tract
ชนิดฝีคัณฑสูตร
ฝีคัณฑสูตรแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้นหรือไม่ซับซ้อน (Simple Fistula) มีการเชื่อมต่อระหว่างรูทวารกับผิวหนังเพียงหนึ่งทาง
- ฝีคัณฑสูตรชนิดที่ลึกหรือมีความซับซ้อน (Complex Fistula) เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหูรูดทวารมากขึ้น อาจมีทางออกสู่ผิวหนังหลายทาง หรืออาจเชื่อมโยงกับอวัยวะข้างเคียง
สาเหตุฝีคัณฑสูตร
สาเหตุหลักของโรคฝีคัณฑสูตรเกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นฝีที่ทวารหนักมาก่อน โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีฝีที่ทวารหนักจะมีโอกาสเกิดโรคฝีคัณฑสูตรได้ประมาณร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Crohn’s Disease
- การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น Actinomycosis, Syphillis
- การติดเชื้อวัณโรค หรือ Chlamydia
- โรคมะเร็งทวารหนัก หรือโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดบริเวณรอบปากทวารหนัก
อาการฝีคัณฑสูตร
อาการของโรคฝีคัณฑสูตรอาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้แก่
- บวมและเจ็บปวดบริเวณแก้มก้นด้านในหรือรอบ ๆ ทวารหนัก
- มีน้ำเหลืองซึมออกมาจากรูแผลที่ผิวหนังบริเวณทวารหนัก บางครั้งอาจมีเลือดปนหรือเป็นหนอง
- อาจมีอาการคันรอบ ๆ ทวารหนัก หรือผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก เกิดการอักเสบ บวมแดง
เนื่องจากช่องทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) อาจเกิดการอุดตันจนทำให้เป็นฝี ซึ่งส่งผลให้มีอาการบวมและปวดมากในบริเวณแก้มก้นหรือทวารหนัก ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
ความต่างของฝีคัณฑสูตร VS ริดสีดวง
ริดสีดวง |
ฝีคัณฑสูตร |
ถ่ายเป็นเลือด |
มีเลือดซึม |
ไม่มีหนอง |
มีไข้ ฝีหนอง น้ำเหลืองซึม |
ก้อนริดสีดวงยื่นออกมา |
ไม่มีก้อนริดสีดวง |
ปวดขณะขับถ่าย |
เจ็บปวดบริเวณรอบ ๆ ทวารหนักตลอดเวลา แม้ช่วงที่ไม่ได้ขับถ่าย |
โอกาสเป็นซ้ำสูง |
โอกาสเป็นซ้ำน้อย |
สามารถหายได้เอง |
ส่วนใหญ่ไม่สามารถหายเองได้ |
ตรวจวินิจฉัยฝีคัณฑสูตร
การตรวจวินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตร แพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นจะอัลตราซาวนด์ทวารหนักโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Endoanal Ultrasonography) เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ในกรณีเป็นฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน แพทย์จะพิจารณาการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI)
อย่างไรก็ตามหากเป็นฝีคัณฑสูตรแล้วไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามจนกลายเป็นโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อนได้
รักษาฝีคัณฑสูตร
วิธีการรักษาโรคฝีคัณฑสูตรสามารถแบ่งได้ดังนี้
- การรักษาฝีบริเวณทวารหนัก (Anal Abscess) คือ การผ่าฝีเพื่อระบายหนองออก อาจร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ รวมถึงแนะนำวิธีการดูแลความสะอาดบริเวณทวารหนัก ฝีที่ระบายหนองออกแล้วมีโอกาสกลายเป็นฝีคัณฑสูตรได้ประมาณ 50%
- การรักษาฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) ในผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนแล้ว การรักษาจะทำโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ ดังนี้
- LIFT Procedure (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก โดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะทำการผ่าตัดเข้าไประหว่างชั้นของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเพื่อคล้องเอาทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) จากนั้นทำการตัดและเย็บซ่อมทางเชื่อมดังกล่าว เป็นเทคนิคการรักษาที่ช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย นอกจากผู้ป่วยจะหายจากอาการผิดปกติแล้ว ยังไม่พบปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด
- Fistulotomy ใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าเพื่อเปิดทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ตลอดแนว แล้วทำความสะอาดแผล จากนั้นจะเปิดแผลไว้ โดยปกติแผลจะหายภายใน 4 – 6 สัปดาห์
- Seton วิธีนี้เหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน (Complex Fistula) โดยใช้เชือก (Seton) คล้องทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ไว้
- Fistulectomy คือ การตัดเอาส่วนของทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ออกทั้งหมด ภายหลังการผ่าตัดอาจพบปัญหาการกลั้นอุจจาระได้
ทั้งนี้หากผู้ป่วยฝีคัณฑสูตรมีภาวะฝีบริเวณทวารหนักกำเริบขึ้น จำเป็นต้องรักษาฝีดังกล่าวให้หายก่อนโดยวิธีผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก เมื่อฝีหายดีแล้วจึงสามารถผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีคัณฑสูตรแต่ละวิธีอาจสัมพันธ์กับภาวะการกลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์มากน้อยต่างกัน แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นจะต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจทำการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือเกิดฝีคัณฑสูตรขึ้นใหม่ได้โดยขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดนั้นๆ
ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นฝีคัณฑสูตรซ้ำ
โรคฝีคัณฑสูตรสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ภายหลังการรักษา จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูงเพื่อให้ขับถ่ายคล่อง ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ งดสูบบุหรี่ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูกหรือท้องเสีย และดูแลสุขอนามัยหลังการขับถ่ายอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวควรคุมเบาหวานให้ดี เพื่อลดโอกาสเป็นซ้ำให้ได้น้อยที่สุด