การออกกำลังกายแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบความตื่นเต้น โลดโผนแบบไม่มีขีดจำกัด ทำให้กีฬา Extreme เป็นที่นิยมในกลุ่มคนยุค New Normal ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบการเล่นเดิม ๆ ด้วยความแปลกใหม่ สนุกสนาน เร้าใจ บวกกับความเร็ว ความสูง ท้าทายสภาพแวดล้อมและสายตาผู้คน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรืออาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
รู้จักกีฬา Extreme
Extreme Sports หรือ X – Treme กีฬาผาดโผนของคนพันธุ์ X ไม่เพียงช่วยเผาผลาญไขมัน เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยังกระตุ้นให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่าน มีทั้งกีฬาทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ แบ่งออกเป็น
- Extreme Land Sports บนบก อาทิ ปีนหน้าผา, BMX, จักรยานเสือภูเขา, เซิร์ฟสเก็ตบอร์ด, Free Running หรือ Parkour, กีฬาวิบากต่าง ๆ เป็นต้น
- Extreme Water Sports ทางน้ำ อาทิ เจ็ตสกี, เวคบอร์ด, Kiteboard / Surfing, Flyboarding เป็นต้น
- Extreme Sky Sports กลางอากาศ อาทิ ดิ่งพสุธา, กระโดดเบสจัมป์ปิง, กระโดดร่มแบบ Wingsuit, Bungee Jumping, Ziplining, Canyon Swinging, Cliff jumping เป็นต้น
อันตรายจากกีฬา Extreme
การบาดเจ็บที่เกิดจากกีฬา Extreme แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง (Common Sports Injury) เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในกีฬา Extreme ได้แก่ การฟกช้ำ แผลถลอก การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- การบาดเจ็บที่รุนแรงมาก (Serious Sports Injury) มักเป็นการบาดเจ็บเฉียบพลันที่เป็นผลมาจากกระแทก การล้มหรือตกจากที่สูง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมาก อาจทำให้กระดูกหัก ข้อเคลื่อน เส้นเอ็นฉีกขาด เป็นต้น
ส่วนการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงชีวิตพบได้ไม่บ่อยได้แก่การบาดเจ็บต่อสมองและกระดูกสันหลัง
Extreme กีฬาเสี่ยงสูงต้องระวัง
กลุ่มนักกีฬาที่มักบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา Extreme มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเริ่มเล่น และกลุ่มมืออาชีพหรือผู้ที่มีประสบการณ์สูงมักบาดเจ็บจากการพยายามทำสิ่งที่ยากขึ้น ซึ่งกีฬาที่มีความผาดโผน มีการกระโดดและพลิกตัวด้วยความเร็วสูง ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายและเสียชีวิตสูงกว่ากีฬาอื่น ๆ ได้แก่
1) ปีนเขาหรือหน้าผา (Climbing) ใช้กำลังแขนขาค่อนข้างมาก ความยากจะเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จึงเกิดจากการใช้แขน ไหล่ ข้อมือ และนิ้วมือ เพื่อยึดจับ ยกดึงตัว และโหนรับน้ำหนักตัว อาทิ
- กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
- เส้นเอ็นนิ้วมืออักเสบ
- เส้นเอ็นไหล่ ข้อศอก และข้อมืออักเสบ
ทั้งนี้อุบัติการณ์ของการบาดเจ็บที่พบมากในกีฬาปีนเขาสัมพันธ์กับระดับความสูง ความถี่ และปัจจัยแวดล้อมที่เพิ่มความยากลำบากในการปีนเขา อาทิ หินถล่ม รอยแยก เป็นต้น ซึ่งสามารถส่งผลโดยตรงต่อการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง ขณะที่การล้มเป็นกลไกที่พบบ่อยที่สุดของการบาดเจ็บเฉียบพลัน
2) กระโดดหน้าผา (Cliff Jumping) / กระโดดร่มดิ่งพสุธา (Skydiving) / กระโดดเบสจัมป์ปิง (B.A.S.E. Jumping) / กระโดดร่มแบบ Wingsuit / บันจีจัมป์ (Bungee Jumping) เป็นกีฬาท้าทายความกล้าที่มีอันตราย ด้วยความสูงกว่าหมื่นฟุต กระโดดจากอาคาร เสาอากาศ สะพานหรือหน้าผาด้วยตัวเปล่าแล้วกระตุกร่มชูชีพก่อนลงพื้น หรือสวมชุด Wing Suit ที่ทำให้อยู่บนฟ้าได้นานยิ่งขึ้น หรือการผูกเชือกมัดไว้กับข้อเท้าแล้วโดดห้อยหัวลง แกว่งคล้ายลูกตุ้มแบบ Canyon Swinging หากพลาดเพียงนิดเดียวมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากการกระแทกขณะลงสู่พื้นด้วยความเร็วสูง
ที่อันตรายที่สุดคือ Cliff Jumping หรือ Cliff Diving การกระโดดหน้าผาดิ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่างโดยไร้สิ่งป้องกัน ซึ่งมีความอันตรายอยู่ในระดับท็อปฮิตของกีฬาเอ็กซ์ตรีม ยากที่จะไม่ได้รับบาดเจ็บ เพราะความเร็วสูง และหากน้ำลึกไม่มากพอหรือมีวัตถุบางอย่างใต้น้ำที่มองไม่เห็นอาจมีผลร้ายแรงและเสี่ยงต่อการจมน้ำ
อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่
- แผลถลอก
- แผลฉีกขาด
- ข้อเคล็ด
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- การบาดเจ็บที่หลังและกระดูกสันหลัง
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ
3) จักรยานเสือภูเขา (Mountain Biking) / เสือหมอบ (Road Bike) / บีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์ (BMX Freestyle) / มอเตอร์ไซค์วิบาก (Cycling / Motorsport) ส่วนใหญ่เกิดการล้ม การรับแรงกระแทก การใช้กล้ามเนื้อ และท่าทางในการขับขี่เพื่อยกล้อ ทรงตัว ไถลบนราวหรือบันได หรือขี่ลงเนินที่ลาดชัน รวมถึงกระโดดด้วยความเร็วและแรง อาทิ
- แผลถลอก
- แผลฉีกขาด
- ไหล่หลุด
- ไหปลาร้าหัก
- เอ็นข้อมืออักเสบเรื้อรัง
- ปวดหลัง
- ปวดเข่า
- กล้ามเนื้อขาเรื้อรัง
4) เซิร์ฟสเก็ตบอร์ด (Surf Skateboard) เน้นการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ทำให้มีโอกาสได้รับอุบัติเหตุ การบาดเจ็บเกือบทั้งหมดเกิดจากการล้มหรือกระแทก หากเล่นบนถนนที่มีการจราจร ทางลาดชัน หรือบนตึกอาคารสูง อาจเกิดอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่
- แผลถลอก
- แผลฉีกขาด
- ข้อเคล็ด
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- ข้อเคลื่อนหลุด
- เอ็นฉีกขาด
- กระดูกข้อมือหัก
- กระดูกใบหน้าหัก
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.bangkokhospital.com/content/surf-skate-injuries
5) เจ็ตสกี (Jet Ski) / ไคทซ์เซิร์ฟ (Kitesurfing) / กระดานโต้คลื่น เวคบอร์ด (Wakeboard) กีฬาทางน้ำสุดโลดโผน แม้การล้มในน้ำจะดูเหมือนไม่อันตราย แต่ความเป็นจริงอาการบาดเจ็บไม่ต่างกับการล้มบนพื้น เพราะการขับเจ็ตสกีมีความเร็วถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุจากการพลิกตัวหรือตีลังกาลอยกลางอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้บาดเจ็บจากการกระแทกกับผิวน้ำหรือแนวหินใต้น้ำอย่างรุนแรงได้ และอุบัติเหตุจากการชนเรือสปีตโบทอาจส่งผลรุนแรงต่อชีวิตจากการบาดเจ็บหรือจมน้ำได้
อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่
- การฟกช้ำ
- การบาดเจ็บที่หลัง
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ
6) สกี (Skiing) / สโนว์บอร์ด (Snowboarding) กีฬาเอ็กซ์ตรีมที่มีการฝึกอบรมใช้อุปกรณ์ป้องกันและป้ายเครื่องหมายเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ แต่การบิดและการเคลื่อนที่บนพื้นผิวที่ลื่นไหลอย่างรวดเร็วนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดมาจากการกระแทกและการบิดของนิ้ว ข้อมือ หัวไหล่ หัวเข่า และข้อเท้า เพื่อเลี้ยว หยุด หรือล้ม อาทิ
- เจ็บเข่า
- เข่าเคล็ด
- เอ็นเข่าฉีกขาด
- กระดูกไหปลาร้าหัก
- กระดูกแขนหัก
- กระดูกหน้าแข้งหัก
- เอ็นยึดโคนนิ้วหัวแม่มือฉีก (Skier’s Thumb)
ประเมินการบาดเจ็บจากกีฬา Extreme
เมื่อประสบอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมให้หยุดและสังเกตอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึง
- หากผู้บาดเจ็บลุกเดินเองไม่ไหว ให้นั่งพักหรือนอนพัก
- หากต้องช่วยประคองหรืออุ้ม ให้ถามก่อนทุกครั้งว่า หากขยับตัวแล้วมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นหรือไม่
- หากปวดมากจนขยับไม่ได้ อาจมีกระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือการบาดเจ็บภายในที่รุนแรง ควรเรียกรถพยาบาลหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยทันที
Extreme Sports ปฐมพยาบาลหากไม่รุนแรง
หากบาดเจ็บไม่รุนแรงอย่างแผลถลอก แผลเลือดออก ฟกช้ำ บวม สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที ได้แก่
- บาดแผลถลอกที่มีสิ่งสกปรกในแผล ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เช่น ใช้น้ำดื่มในขวดเทหรือฉีดใส่แผล ฯลฯ
- บาดแผลที่มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดโดยใช้นิ้วมือกดลงบนจุดที่มีเลือดออก
- แขนขาที่ฟกช้ำ บวม พักส่วนนั้นให้อยู่นิ่ง ๆ ประคองให้สูงขึ้น ประคบด้วยความเย็น
Extreme Sports เจ็บแบบไหนต้องพบแพทย์
เมื่อมีอาการที่อาจเป็นอันตรายต้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินและรีบพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่
- วูบหมดสติ สลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้
- ปวดศีรษะมาก มึนงง คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดมากตามแนวต้นคอ กระดูกสันหลัง และเอว
- แขนหรือขาที่บาดเจ็บมีอาการปวดมาก บวมมาก หรืองอบิดผิดรูป
- มีบาดแผลขนาดใหญ่หรือมีเลือดออกมาก
- เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
- ปวดท้องมาก แน่นท้อง
- หน้ามืด เป็นลม นอนพักแล้วอาการไม่ทุเลา
เทคนิครักษากระดูกหักจากกีฬา Extreme
อย่างที่ทราบกันว่ากีฬา Extreme อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่กระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเกือบทุกชนิดของกีฬาเหล่านี้มักนำไปสู่อุบัติเหตุต่อกระดูกและข้อที่มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการเกิดและแรงกระทำ ตั้งแต่เส้นเอ็นฉีกขาดจนไปถึงกระดูกร้าว กระดูกเคลื่อน และกระดูกหัก โดยบริเวณที่พบกระดูกหักบ่อย ได้แก่ กระดูกไหปลาร้า เท้าและข้อเท้า ไหล่ แขน และกระดูกเชิงกราน
- กระดูกไหปลาร้าหัก เป็นตำแหน่งกระดูกหักที่พบได้บ่อย เนื่องจากง่ายต่อการบาดเจ็บจากการรับแรงกระแทกที่ผ่านมาจากแขนสู่ลำตัว โดยการหักอาจเกิดจากแรงกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้าหรือแรงกระแทกทางอ้อมจากไหล่หรือแขน เช่น หกล้มในท่าแขนเหยียดออกกระแทกพื้น หรือหกล้มไหล่กระแทกพื้น การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก แบ่งออกเป็น
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนที่ของกระดูกหักไม่มาก รักษาได้โดยการใส่ที่พยุงแขนไว้เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ ร่วมกับการงดขยับหัวไหล่ในช่วง 2 สัปดาห์แรก โดยทั่วไปกระดูกจะติดภายในระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการรักษากระดูกไหปลาร้าหักโดยไม่ผ่าตัดอาจมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกหักเคลื่อนจากกันมาก
- การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักและมีการเคลื่อนที่ออกจากกันมาก เช่น หดสั้นหรือแยกออกจากกันเกิน 2 เซนติเมตร การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กดามกระดูกจะเพิ่มโอกาสกระดูกติดและลดการติดผิดรูปได้ ในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยเทคนิค MIPO (Minimally Invasive Percutaneous Plate Osteosynthesis) โดยเปิดแผลสั้น ๆ ประมาณ 2 – 3 แผล หลังจากนั้นสอดเหล็กเข้าไปใต้ผิวหนังและยึดตรึงกระดูกด้วยสกรู โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดยาวตลอดความยาวของกระดูกไหปลาร้า การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและเส้นประสาท รวมไปถึงลดการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
- กระดูกเท้าแตกหัก นอกจากกระดูกไหปลาร้าแล้ว กีฬา Extreme สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณรอบข้อเท้า ซึ่งอาจเป็นการบาดเจ็บโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น การถูกกระทบกระแทกของข้อเท้าต่อพื้นผิว หรือวัตถุแข็ง การกระแทกตามแนวดิ่ง หรือการบิดงอของข้ออย่างรุนแรง ทําให้เกิดการหักของกระดูกในบริเวณข้อเท้าโดยลักษณะและความรุนแรงของการแตกหักของกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของการบาดเจ็บและความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งกระดูกเท้าแตกหัก การรักษาหลักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด กรณีกระดูกร้าวหรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ หรือการแตกหักนั้น ๆ ไม่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วย การรักษาทำได้โดยใส่เฝือกหรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนขยับข้อเข่า และป้องกันการถ่ายลงน้ำหนัก จนกระทั่งกระดูกมีการเชื่อมติดที่แข็งแรงเพียงพอ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ เช่นเดียวกับกระดูกไหปลาร้าหัก
- การรักษาแบบผ่าตัด กรณีที่มีการแตกหักและเคลื่อนของผิวข้อ หรือไม่สามารถใส่เฝือกได้ในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านในและด้านนอกของข้อเท้า ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก หรือการรัดลวดโลหะ เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม
การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจนและการทำภาพ 3 มิติในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด
ข้อมูลเพิ่มเติม :
เวชศาสตร์การกีฬากับกีฬา Extreme
การบาดเจ็บจากกีฬา Extreme อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ ได้ อาทิ ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ส่งผลให้มีอาการปวด อักเสบ หรือฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อไปจนถึงข้อต่อเสื่อม เกิดความไม่มั่นคงต่อข้อต่อต่าง ๆ สร้างปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถกลับมาเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมได้เหมือนเก่า หรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน
การรักษาผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) แผลเล็ก เป็นแนวทางการรักษาที่นิยมในปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในข้อต่อต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กขั้นสูงและเครื่องมือเวชศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัย ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง คงความฟิตของร่างกาย ให้นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมสามารถกลับมาเล่นกีฬาผาดโผนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแล รักษา ฟื้นฟูศักยภาพ และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ด้วยโปรแกรม SPORTS PERFORMANCE ที่ออกแบบโปรแกรมตรวจวิเคราะห์สมรรถภาพร่างกายจำเพาะกีฬาแต่ละชนิด ช่วยค้นหาความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำและออกกำลังกายบริหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพและป้องกันการบาดเจ็บเฉพาะบุคคล เตรียมความพร้อมก่อนกลับไปเล่นกีฬาผาดโผนอีกครั้ง โดยทีมแพทย์และสหวิชาชีพเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาของสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย หรือ BASEM ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA Medical Centre of Excellence) ของประเทศไทย
อุบัติเหตุทางสมองกับกีฬา Extreme
จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุทางสมอง หรือผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะนั้น 10% – 20% มีสาเหตุมาจากกีฬาและกิจกรรมสันทนาการ โดยเฉพาะกีฬา Extreme Sports โดยความรุนแรงของการบาดเจ็บแปรผันตามความเร็วของการเคลื่อนไหวของกิจกรรม มีตั้งแต่ไม่มีบาดแผลจนถึงขั้นรุนแรงหมดสติหรือแม้แต่เสียชีวิตได้ การบาดเจ็บชนิดที่ไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ แต่หากเป็นชนิดปานกลางหรือรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการในทันทีเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลัง ผลของการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บและกระบวนการดูแลรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที ในรายที่มีกลไกของการบาดเจ็บที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กะโหลกแตก กระดูกคอหรือกระดูกสันหลังหักหรือเคลื่อน หรือเลือดออกในสมอง และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในรายที่รุนแรงถึงขั้นมีความจำเป็นต้องผ่าตัด เช่น เลือดคั่งในสมองหรือมีการบาดเจ็บต่อไขสันหลัง สมควรที่จะผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในสมองหรือไขสันหลังส่วนที่ยังดีอยู่ ตามด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและระบบประสาท เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด
เทคนิคการรักษาอุบัติเหตุทางสมอง
เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยเพิ่มความถูกต้องในการรักษาอุบัติเหตุทางสมอง เช่น การตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) เพื่อสแกนสมอง ทำให้เห็นความเสียหายหรือรอยโรคได้ชัดเจน นำไปสู่การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ในบางกรณีหากมีการบาดเจ็บรุนแรงจนวิกฤติ ศัลยแพทย์อาจเลือกวิธีการผ่าตัดสมองด้วยเทคนิคนำวิถี (Stereotactic Neurosurgery) ที่สามารถกำหนดจุดที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องก่อนจะลงมีด โดยนำผู้ป่วยไปเข้าเครื่องสแกนเพื่อสร้างภาพของสมอง แล้วจึงนำภาพนั้นไปวางแผนและกำหนดพิกัดผ่าตัดสมอง ทำให้สามารถเปิดแผลศีรษะเฉพาะจุดที่ต้องการเท่านั้น ผู้ป่วยจึงมีบาดแผลเล็กลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดกะโหลก บางครั้งอาจผ่าตัดผ่านรูขนาดเล็กเพียง 1 – 2 เซนติเมตร ส่งผลให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต
ป้องกันอุบัติเหตุทางสมอง
การป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุทางสมองที่รุนแรง แนะนำให้สวมหมวกนิรภัยหรืออุปกรณ์สวมศีรษะตลอดเวลาเมื่อเล่นกีฬาดังต่อไปนี้
- เบสบอลและซอฟต์บอล (เมื่อตี)
- ปั่นจักรยาน
- อเมริกันฟุตบอล
- ฮอกกี้
- ขี่ม้า
- สเก็ตบอร์ด / สกูตเตอร์
- สกี
- สโนว์บอร์ด
- มวยปล้ำ
- ศิลปะการต่อสู้
- กระโดดค้ำถ่อ
- มอเตอร์สปอร์ต
ระวังทุกเมื่อกับกีฬา Extreme
- กีฬาที่เล่นต้องเหมาะสมกับสภาวะสุขภาพและสภาพของผู้เล่น
- เล่นกีฬาในสถานที่ที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬาชนิดนั้น
- ดูแลเด็กเล็กตลอดเวลา ห้ามใช้อุปกรณ์กีฬาหรือเล่นกีฬาที่ไม่เหมาะสมกับวัย
- ทำตามกฎทุกข้อที่สวนน้ำและสระว่ายน้ำ
- สวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับการเล่นกีฬา
- ห้ามใส่เสื้อผ้าที่รบกวนการมองเห็น
- ห้ามเล่นกีฬาเมื่อป่วยหรือเหนื่อยมาก
- ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรทั้งหมด ระวังผู้ขับขี่เมื่อขี่จักรยาน เล่นสเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด
- หลีกเลี่ยงพื้นผิวที่ไม่เรียบเมื่อขี่จักรยาน สเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด
- ตรวจสอบความปลอดภัยสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และอุปกรณ์เป็นประจำ
- ทิ้งและเปลี่ยนอุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เสียหาย
ป้องกันการบาดเจ็บจากกีฬา Extreme
การป้องกันการบาดเจ็บเป็นหัวใจสำคัญในการเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ได้แก่
- ฝึกเล่นกีฬาโดยผู้ฝึกสอนที่มีความชำนาญ
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บที่เหมาะสมกับประเภทกีฬา เช่น หมวกนิรภัย แว่นนิรภัย ถุงมือ อุปกรณ์กันกระแทก เสื้อชูชีพ เสื้อผ้าและรองเท้า
- อบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนเริ่มเล่นกีฬา
- ไม่ฝืนเล่นผาดโผน เล่นยากเกินระดับที่เคยฝึกฝน
- มีบัดดี้หรือคู่หูในการเล่นกีฬา เพื่อดูแลและช่วยเหลือกันหากบาดเจ็บ
- หากเสียหลักล้มให้หันด้านข้างหรือสะโพกลงพื้นเพื่อรับแรงกระแทก ประคองศีรษะและลำคอไว้
- หากเสียหลักล้มขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วให้ปล่อยตัวตามธรรมชาติ อาจกลิ้งไปกับพื้น ไม่เกร็งตัว
- หยุดเล่นเมื่อมีอาการเจ็บหรือเหนื่อย
- พักดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและความร้อนสูงเกินไป
- ตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ และกระแสน้ำว่ามีความปลอดภัย เหมาะสมกับการเล่นกีฬา
- ตรวจสอบคำเตือนอันตรายในพื้นที่ เช่น คลื่นลมแรง ลมพายุ ฯลฯ
- มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
แจ้งเหตุเร็วรักษาได้ทัน
การป้องกันอุบัติเหตุสำคัญที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ผู้บาดเจ็บควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีบุคลากรการแพทย์พร้อมรถพยาบาลคอยให้การดูแล เคลื่อนย้าย และส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร 1669 หรือศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส โทร 1724 (BDMS Medevac Center) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ส่งทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงที่ติดตั้งภายในรถพยาบาลในการดูแลเคลื่อนย้ายในกรณีที่จำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง โดยควรโทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก เพราะการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยขาดความรู้อาจนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้
หากเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) โรงพยาบาลกรุงเทพ และศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บีดีเอ็มเอส (BDMS Medevac Center) เป็นศูนย์กลางการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับและส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ 1724 หรือ 1719 ซึ่งมีความพร้อมด้านเวชศาสตร์ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหวิชาชีพพร้อมให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
กีฬา Extreme Sports แม้จะเป็นกีฬาที่เสี่ยงอันตราย แต่หากผู้เล่นมีทักษะที่ดีและมีความพร้อมในการเล่น ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย ช่วยให้หัวใจสูบฉีดและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและสมองมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะมือใหม่ควรศึกษาวิธีการเล่น เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เข้าใจรูปแบบการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยเพื่อป้องกันอันตราย จะได้สนุกกับการเล่นและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บให้น้อยที่สุด
Reference
-
Laver, L., Pengas, I.P. & Mei-Dan, O. Injuries in extreme sports. J Orthop Surg Res 12, 59 (2017).
-
McIntosh A, Fortington L, Patton D, et al EXTREME SPORTS, EXTREME RISKS. FATALITIES IN EXTREME SPORTS IN AUSTRALIA British Journal of Sports Medicine 2017;51:360.
-
https://www.rgare.com/knowledge-center/media/articles/extreme-sports-extreme-underwriting
-
https://www.iii.org/fact-statistic/facts-statistics-sports-injuries