กอล์ฟ หนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมเล่นและแข่งขันกันในทุกเพศทุกวัย ทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่น แม้กอล์ฟดูเหมือนจะเป็นกีฬาที่ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เพราะไม่มีการปะทะร่างกายเหมือนกีฬาชนิดอื่น แต่ด้วยท่าทางการใช้ร่างกายของนักกอล์ฟอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากกีฬากอล์ฟ เป็นผลจากการใช้งานมากเกินไป หรือหนักเกินไป (Overuse) ถึง 80% ส่วนอีก 20% เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บเฉียบพลัน
อวัยวะเสี่ยงบาดเจ็บจากกอล์ฟ
จากการศึกษาและเก็บข้อมูลพบว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนักกอล์ฟมีความแตกต่างกันไปตามเพศ วัย และความสามารถหรือความถี่ในการเล่นกอล์ฟ ได้แก่
- หลัง โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง มีรายงานการบาดเจ็บหลังส่วนล่างถึง 30% ของการบาดเจ็บในกีฬากอล์ฟ และพบมากในนักกอล์ฟสมัครเล่น ซึ่งอาจจะบาดเจ็บได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากการใช้งานที่หนักเกินไป การอักเสบของกล้ามเนื้อหลังจากการฉีกขาดขณะหมุนตัวที่ไม่ถูกต้อง ไปจนถึงข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรืออักเสบ แม้แต่กระดูกสันหลังเสื่อมแล้วเกิดการแตกหักในนักกอล์ฟสูงอายุก็อาจพบได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกต้นคอเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในนักกอล์ฟอาชีพ
- ข้อศอกและข้อมือ ในส่วนของข้อศอกมักพบบริเวณเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะที่ปุ่มกระดูกข้อศอกด้านในอักเสบ เรียกว่า โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow) ส่วนใหญ่พบในข้อศอกขวาของนักกอล์ฟที่ถนัดขวา หรือการพยายามตีไกลแรง ๆ ใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกินไป ทำให้เกิดแรงกระชาก ปวดเรื้อรัง มีการอักเสบหรือฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อได้
ส่วนนักกอล์ฟที่วงสวิงยังไม่ค่อยมั่นคง ตีโดนพื้นหรือซ้อมมากเกินไปอาจจะบาดเจ็บหรืออักเสบที่เอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะรวมกันที่ปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก ขณะขยับหมุนข้อศอกหรือสะบัดข้อมือขึ้นแรง ๆ โดยมากจะเจ็บที่ข้อศอกซ้ายในนักกอล์ฟที่ถนัดขวา หรือนักกอล์ฟสมัครเล่น เนื่องจากมีการดึงรั้งขณะขึ้นวงสวิง หรือขาดการวอร์มอัพยืดเหยียดเอ็นกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนซ้อมหรือออกรอบ หรือขณะตีเทนนิสในท่าแบ็กแฮนด์ จึงเรียกการบาดเจ็บนี้ว่า โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis Elbow)
สำหรับข้อมือนั้นอาจเกิดการบาดเจ็บจากเอ็นด้านในของข้อมืออันเกิดจากการกระแทก กระดกข้อมือ จับไม้กอล์ฟหลวมหรือแน่นเกินไป ใส่แรงตีมากไป การบิดข้อมือระหว่างวงสวิง จนทำให้เอ็นด้านในของข้อมืออักเสบและบาดเจ็บฉีกขาดได้
- หัวไหล่ ด้วยท่าทางของวงสวิง ทำให้มีการขยับข้อไหล่ขึ้นลง ส่งผลให้เอ็นรอบ ๆ หัวไหล่ถูกใช้งานซ้ำ ๆ เป็นประจำ เกิดการเสียดสีกับกระดูก เอ็นหัวไหล่จึงเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ นอกจากนี้สำหรับคนที่ข้อไหล่เคยหลุด ข้อไหล่หลวม หรือในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเอ็นข้อไหล่เสื่อมจากวัย จุดนี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากขึ้น
- ข้อเข่า ด้วยเทคนิคการตีระหว่างวงสวิง ส่งผลต่อการบิดหมุนข้อเข่า หากผิดจังหวะอาจเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มได้ โดยเฉพาะเข่าซ้ายจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักมากในนักกอล์ฟที่ถนัดมือขวา รวมทั้งความเรียบ อุปสรรค และเนินต่าง ๆ ของพื้นสนามกอล์ฟ หรือการเดินหรือยืนนาน ๆ ในนักกอล์ฟที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีปัญหาปวดขาปวดเข่า ยิ่งผู้ที่อายุมากขึ้นก็อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในข้อเข่า เอ็นรอบข้อเข่า กระดูกอ่อน หรือหมอนรองกระดูกด้านในข้อเข่าเสื่อม หรือฉีกขาดได้
- ข้อเท้า การวางเท้าหรือบิดหมุนที่ผิดจังหวะและมีการพลิกข้อเท้าเมื่อสวิงลูกกอล์ฟออกไปอาจทำให้เอ็นข้อเท้าหรือเอ็นร้อยหวายเกิดการบาดเจ็บได้ รวมทั้งอุบัติเหตุจากการลื่น สะดุด อาจเกิดขึ้นได้ในสนามกอล์ฟ
สาเหตุของอาการบาดเจ็บจากกอล์ฟที่เกิดขึ้นในบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามที่กล่าวมาข้างต้นอาจเกิดจากท่าทางการออกวงสวิง ซึ่งต้องใช้ร่างกายและกล้ามเนื้อหลายส่วน การตีถูกพื้น การพยายามตีลูกแรงหรือเร็วเกินขีดความสามารถ การอบอุ่นร่างกายที่ไม่พอเพียง ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยหรือเจ็บเล็กน้อย ไปจนถึงการใช้งานบริเวณนั้นซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นบาดเจ็บเรื้อรัง
ในนักกอล์ฟสมัครเล่นพบว่า การบาดเจ็บพบได้บ่อยจากเทคนิควงสวิงที่ไม่ถูกต้อง การบิดหรือหมุนลำตัวที่ผิด การหักโหมตีลูกแรงหรือเร็วเกินไป หรือเน้นใช้กำลังจากกล้ามเนื้อแขนมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางยังไม่แข็งแรงและสมดุลจนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
สำหรับนักกีฬาอาชีพ แม้จะมีท่าทางในการออกวงสวิงที่ถูกต้อง มั่นคง แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ 80% ของอาการบาดเจ็บมาจากการใช้งานหนักหรือมากเกินไป ซึ่งนักกอล์ฟมืออาชีพต้องฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันหลายรายการ ทำให้ต้องใช้ร่างกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอันนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้ ส่วนอีก 20% เกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน มักเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดในสนามกอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นการตีกอล์ฟในรัฟหรือตีในบริเวณหญ้าที่หนา ๆ ตีแล้วไปเจอตอไม้หรือรากต้นไม้ ออกวงสวิงผิด ตีแล้วไปขุดดิน เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดอาการเฉียบพลันขึ้นมาได้ หรือระหว่างเดินเปลี่ยนหลุมแล้วหกล้ม เป็นต้น
เจ็บแบบไหนควรพบแพทย์
ถ้ามีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย สามารถดูแลตัวเองได้ก่อน โดยประคบเย็นบริเวณที่ปวดเคล็ดยอก พักจากการเล่นกอล์ฟสักระยะหนึ่งจนกว่าจะหายดี อาจรับประทานยาลดการอักเสบร่วมด้วย หากพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังเจ็บมากขึ้น มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปวดหลังแล้วมีอาการร้าวลงขา มีอาการชา ขาอ่อนแรง ปวดข้อศอกเรื้อรัง เป็นนานหลายเดือนยังไม่ดีขึ้น ปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น กำลังแขนอ่อนลง ปวดบวมเข่า หรือมีอุบัติเหตุหกล้มเข่าบิด เป็นต้น อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา
รักษาเมื่อบาดเจ็บจากกอล์ฟ
เริ่มต้นแพทย์จะวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุหลักของการบาดเจ็บ หากมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ แนะนำให้หยุดพัก ลดการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำซ้อน แล้วประคบเย็น ถ้าอาการปวดรุนแรงขึ้นมาอีกระดับ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางกายภาพช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นการอัลตราซาวนด์ เลเซอร์ การทำ Shock Wave เป็นต้น
หากมีอาการปวดจากเอ็นฉีก ข้อต่อ กระดูก หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน แพทย์จะตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจ MRI เพื่อพิจารณาดูรอยโรค ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะพิจารณาฉีดหรือรับประทานยาลดการอักเสบเฉพาะที่ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือการบาดเจ็บรุนแรง แพทย์จึงจะพิจารณาการผ่าตัดรักษาเป็นลำดับต่อไป
ป้องกันอาการบาดเจ็บจากกอล์ฟ
เมื่อมีการบาดเจ็บควรหยุดเล่น ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่เริ่มแรก และก่อนจะกลับมาเล่นใหม่ ควรให้หายจากการบาดเจ็บ เพิ่มความยืดหยุ่น และเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อน ทั้งนี้นักกอล์ฟควรให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในแต่ละมัด แต่ละข้อต่อให้มากขึ้น ทั้งหลัง ข้อศอก ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อเท้า เพื่อให้พร้อมก่อนออกรอบ ยิ่งกล้ามเนื้อแข็งแรงและสมดุลมากเท่าไรก็จะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น อาจเริ่มจากบริหารหลังอันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยการออกกำลังกายส่วนแกนกลางลำตัว (Core Body) ด้วยวิธีแพลงก์ (Plank) ซึ่งจะได้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงมากขึ้น เสริมกำลังให้กับกระดูกสันหลังได้ด้วย โดยที่ไม่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังนั้นเกิดความตึงเครียด ทั้งยังช่วยลดอาการปวดหลังได้อีกด้วย
ก่อนออกรอบควรวอร์มอัพร่างกายทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เลือดลมไหลเวียน วอร์มท่าทางการออกวงสวิง เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตื่นตัว ยืดเหยียดร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องใช้ ช่วยลดการบาดเจ็บได้ ด้วยประเทศไทยเป็นเมืองร้อน โอกาสในการเสียเหงื่อนั้นมีมาก อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเมื่อออกรอบ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบน้ำอย่างสม่ำเสมอขณะออกรอบ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้เหมาะสมครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยลดการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บได้ หลังจากออกรอบควรคูลดาวน์ร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง หลังจากไปออกลวดลายวาดวงสวิงมา
นอกจากนี้การเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บได้เช่นกัน น้ำหนักและความอ่อนแข็งของไม้กอล์ฟมีหลากหลายมาก เดิมไม้กอล์ฟส่วนใหญ่ก้านของไม้จะทำจากเหล็ก แต่ปัจจุบันเริ่มมีวัสดุอื่น เช่น กราไฟต์ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า หากผู้เล่นเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการเล่นและเทคนิคของตนเอง เช่น เลือกไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น เป็นต้น
นักกอล์ฟสามารถตรวจสอบความฟิตของร่างกายและกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บได้โดยการตรวจสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกาย Fit for Play Program เป็นการตรวจเช็กสภาพความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะออกเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายว่ากล้ามเนื้อของคุณแข็งแรงแค่ไหน พร้อมที่จะเล่นกีฬาแล้วหรือไม่ และทำอย่างไรหากยังไม่ฟิตพอ ซึ่งเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้ที่ออกรอบเป็นประจำ และอีกโปรแกรมคือ Fit for Performance ที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬาที่ต้องการตรวจวิเคราะห์เจาะลึกอย่างละเอียด เพื่อเติมเต็มศักยภาพร่างกายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดการแข่งขัน เมื่อเรียนรู้วิธีบวกกับทำตามคำแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ นี้แล้ว นอกจากจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟแล้วยังจะช่วยให้คุณสนุกกับการตีกอล์ฟยิ่งขึ้น