ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

5 นาทีในการอ่าน
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

โรคริดสีดวงทวารเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวและอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จึงไม่ควรละเลยและรีบดูแลตนเองอย่างถูกวิธี

ริดสีดวงทวารคืออะไร

ริดสีดวงทวาร คือ การมีกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพองและอาจยื่นออกมา


ริดสีดวงทวารมีกี่ชนิด

ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด และแต่ละชนิดมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ได้แก่

1) ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงทวารที่เกิดภายในรูทวาร ซึ่งอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ ถูกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน แบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 : ริดสีดวงอยู่ภายในและไม่มีการยื่นออกมานอกทวารหนัก
  • ระดับที่ 2 : ริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักเมื่อถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปด้านในเองได้
  • ระดับที่ 3 : ริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักและต้องใช้มือดันกลับเข้ าไปด้านใน
  • ระดับที่ 4: ริดสีดวงยังคงยื่นออกมานอกทวารหนัก แม้จะใช้มือดันกลับเข้าไปแล้วก็ตาม

2) ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบ ๆ ทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวด ผู้ป่วยจึงมักมาด้วยอาการปวด แม้ไม่มีการแบ่งระดับความรุนแรงชัดเจนเหมือนริดสีดวงทวารภายใน แต่มีอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บปวด บวม อักเสบ เลือดออก ฯลฯ


ริดสีดวงทวารเกิดจากสาเหตุใด

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา
  2. อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพต้องยืนนาน ๆ มีผลทำให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียว แต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรคริดสีดวงได้
  3. โรคแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น โรคตับแข็งหรือโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก

อาการริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร

  • ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้าท้องผูกมีโอกาสเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้น เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็นมากขึ้น แต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง
  • ระยะที่ 3 เวลาถ่ายอุจจาระ หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอ ยกสิ่งของหนัก ๆ เกิดการเบ่งในท้องเกิดขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือดันกลับเข้าไปถึงจะเข้าไปอยู่ภายในทวารหนักได้
  • ระยะที่ 4 ริดสีดวงมองเห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจน สามารถพบร่วมกับอาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน ได้แก่ มีเลือดออก ก้นแฉะ และอุจจาระปนออกมา ทำให้เกิดการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันร่วมด้วย หากการอักเสบมากยิ่งขึ้น การติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย และเมื่อเลือดออกมาเรื่อย ๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะจนเกิดอาการหน้ามืด

ตรวจวินิจฉัยริดสีดวงทวารอย่างไร

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีเลือดสดออกทางทวารหนักระหว่างที่ถ่ายอุจจาระ สังเกตได้จากการมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกมาเป็นหยด ทั้งนี้อาจจะมีอาการเจ็บทวารหนักหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดอาการอักเสบหรือหัวยื่นออกมาข้างนอก อาจรู้สึกเจ็บรุนแรงจนทำให้ยืน นั่ง หรือเดินไม่สะดวก และอาจคลำพบก้อนเนื้อที่เป็นหัวบริเวณปากทวารหนักในรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดจากการเสียเลือดได้

 

" "

รักษาริดสีดวงทวารอย่างไร

การรักษาริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วย ประกอบไปด้วย

  1. ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินผักผลไม้มาก ๆ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย
  2. ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 10 – 15 นาที และใช้ยาเหน็บหรือยาทาริดสีดวงทวารเพื่อบรรเทาเป็นเวลาประมาณ 7 – 10 วัน
  3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาผ่าตัดริดสีดวง
  4. ถ้าหัวริดสีดวงออกมาข้างนอกให้ใช้ปลายนิ้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าดันกลับไม่ได้แนะนำให้ไปโรงพยาบาล
  5. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรพบแพทย์และส่องกล้องตรวจทวารหนักถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่
  6. ถ้าเป็นมากอาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
    • การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไป วิธีนี้สะดวก ไม่เจ็บปวด มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง
    • ใช้ยางรัด ทำให้หัวฝ่อ
    • ใช้แสงเลเซอร์รักษา
    • รักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร

การผ่าตัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อาจถูกใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่สามารถบรรเทาอาการได้หรือมีภาวะที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน ได้แก่

  1. การผ่าตัดริดสีดวงทวาร (Hemorrhoidectomy)
    มักใช้เมื่อริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่ หรือมีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยการผ่าตัดนี้จะทำการตัดเนื้อเยื่อริดสีดวงทวารที่มีปัญหาออก หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวหลังผ่าตัดระหว่าง 1 – 2 สัปดาห์ โดยต้องระวังการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก และการดูแลแผลผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง



  2. การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ (Laser Hemorrhoidoplasty / Laser Hemorrhoidectomy)
    การผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์เป็นการใช้แสงเลเซอร์ในการตัดและทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยแสงเลเซอร์จะช่วยตัดเนื้ออย่างถูกต้องตรงตำแหน่ง ลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด และลดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีข้อดีมากมาย ได้แก่
    • ลดความเจ็บปวด การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์เจ็บปวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
    • ลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด เพราะการใช้เลเซอร์ช่วยให้ตัดเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้อง
    • ตรงตำแหน่ง การใช้เลเซอร์สามารถตัดเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อรอบข้าง
    • ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า เจ็บน้อยกว่า กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของริดสีดวงและจำนวนริดสีดวงของผู้ป่วยแต่ละราย

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไร

  1. ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายและประเมินสภาพสุขภาพทั่วไปเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด
  2. ผู้ป่วยควรอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บให้สั้นในคืนก่อนวันผ่าตัด
  3. งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันผ่าตัด
  4. พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนวันผ่าตัดอาจจะได้รับยาเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลและได้พักผ่อน
  5. ขณะทำการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะแพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกช่วงท่อนล่างของร่างกายโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง

ดูแลตนเองหลังผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไร

  1. หลังผ่าตัดใหม่ ๆ จะรู้สึกชาที่ขา ก้น และสะโพก เนื่องจากฤทธิ์ยาชายังคงอยู่
  2. ท่านอนหลังผ่าตัด ควรนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อลดการกดทับและบรรเทาอาการปวดแผล ในรายที่ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังควรนอนราบอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาชาเฉพาะที่
  3. สามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  4. การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น จะเริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด โดยใช้น้ำอุ่นใส่ในอ่างที่มีขนาดของปากอ่างพอดีกับก้นเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดกดทับกับก้นอ่างและแผลได้สัมผัสกับน้ำได้เต็มที่
  5. หากมีอาการปวดหลังผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาริดสีดวงทวาร

พญ.สรินดา เลิศบรรณพงษ์ ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาริดสีดวงทวาร

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้การดูแลรักษาริดสีดวงทวาร โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุกวัน

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. สรินดา เลิศบรรณพงษ์

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
พญ. สรินดา เลิศบรรณพงษ์

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคาร D ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด