1) นิ่วในถุงน้ำดี (GALL STONE)
- กลุ่มเสี่ยง พบบ่อยในหญิงวัย 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน มีบุตรหลายคน ทานยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น
- อาการ อาจไม่แสดงอาการหรือมีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารที่มีไขมันสูง (ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร)
- การรักษา ตรวจเพื่อแยกโรคด้วยการทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ช่วยให้เห็นรายละเอียดของก้อนนิ่วหรือติ่งเนื้อในถุงน้ำดี แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วไปอุดตันทางออกถุงน้ำดีหรือในท่อน้ำดีหลัก เป็นต้น
2) ถุงน้ำดีอักเสบ (CHOLECYSTITIS)
- กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรังหรือเป็นโรคนิ่วที่ไม่ได้รับการรักษา
- อาการ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา ขยับตัวไม่ได้ เจ็บมากเมื่อหายใจเข้า หากเป็นมากจะมีไข้หนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง อุจจาระสีซีด คลื่นไส้อาเจียน ปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง
- การรักษา โดยทั่วไปแพทย์จะทำการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง Laparoscopic Cholecystectomy เพื่อเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับและอวัยวะข้างเคียง โดยไม่ตัดโดนท่อน้ำดีหลัก และด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติ หรือใช้กล้อง 4K UHD ที่ให้ความคมชัดสูงช่วยให้การผ่าตัดแก้ไขมีความชัดเจนและช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากถุงน้ำดีแตกได้
- OUTCOME MERSUREMENT LAPAROSCOPIC CHOLECYSTECTOMY
ผลการผ่าตัดผ่านกล้องถุงน้ำดี*
- 100% ลุกเดินได้ใน 4 – 6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงก่อนผ่าตัด
- 93% ผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จ แม้ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลัน
- 0% การบาดเจ็บต่อท่อน้ำดีหลัก
*เก็บข้อมูลสถิติจากผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดีที่ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ ปี 2561
3) ไส้เลื่อนติดคา (INCARCERATED HERNIA)
- สาเหตุ ไส้เลื่อนเป็นโรคที่อวัยวะภายในช่องท้อง (ไขมันหรือลำไส้) เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นผ่านรู หรือดันตัวผ่านผนังหน้าท้องที่หย่อนยาน หรือบริเวณแผลผ่าตัด
- กลุ่มเสี่ยง ไส้เลื่อนขาหนีบมักพบในชายวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ หรือผู้ที่ยกของหนัก น้ำหนักตัวมาก เป็นโรคต่อมลูกหมากโต โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง มีภาวะท้องผูกหรือเบ่งถ่ายเป็นประจำ ส่งผลให้ความดันช่องท้องเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อนอาจเกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดได้ ส่วนผู้หญิงมักเป็นไส้เลื่อนใต้ขาหนีบ ไส้เลื่อนกระบังลม และไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน นอกจากนี้ยังพบไส้เลื่อนที่สะดือ หรือที่เรียกว่าสะดือจุ่นโป่งขณะทารกแรกเกิดร้องไห้
- อาการ ปวดหน่วง ๆ เหมือนมีอะไรไหลออกมา มีก้อนตุงผิดสังเกต หรือเจ็บบริเวณก้อน ก้อนผลุบเข้าออกได้และยุบหายเมื่อนอน หากปวดหรือไม่สามารถดันไส้เลื่อนกลับได้ ควรพบแพทย์โดยเร็ว หากปล่อยไว้ไส้เลื่อนอาจถูกบีบรัดจนขาดเลือดและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อันตรายได้
- การรักษา ควรตรวจเพื่อแยกโรคอื่น อาทิ ก้อนเนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถุงน้ำที่อัณฑะหรืออัณฑะบิดตัว เป็นต้น หากไส้เลื่อนติดคา แพทย์จะนำไส้เลื่อนกลับเข้าที่เดิมแล้วจึงผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้องส่องผนังหน้าท้อง แบบไม่ทำลายเยื่อบุช่องท้อง (Laparoscopic Total Extraperitoneal Hernia Repair : TEP) เพื่อเลาะพังผืดซึ่งใกล้กับอวัยวะสำคัญอย่างเส้นเลือดหรือเส้นประสาทจำนวนมาก เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเจาะรูเล็ก 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ขนาดใหญ่ 10×15 ซม. ปิดจากภายในช่องท้อง สามารถป้องกันไส้เลื่อนอื่นบริเวณขาหนีบและลดอัตราการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ แผลเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว
4) โรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี (HEPATO, PANCREATO, BILIARY DISEASES)
- ตับอักเสบเฉียบพลัน จากเชื้อไวรัส ไขมันพอกตับ ยา สารเคมี ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากต่อเนื่อง ส่งผลให้ตับโต ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลด ปวดท้องใต้ชายโครงขวา หากเป็นเรื้อรังเซลล์ตับจะถูกทำลายเกิดภาวะตับแข็ง (ท้องมานบวมโต อาเจียนเป็นเลือด) ตับวาย และเป็นมะเร็งตับได้ กรณีตับอักเสบในระยะไม่รุนแรง การหยุดดื่มแอลกอฮอล์และทานวิตามินเสริมจะช่วยให้ตับกลับมาเป็นปกติได้
- ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากดื่มแอลกอฮอล์หรือมีนิ่วอุดตันท่อน้ำดี ปวดท้องร้าวทะลุไปด้านหลัง มักเกิดฉับพลันและนานหลายชั่วโมง รักษาได้โดยส่องกล้องเอานิ่วในท่อน้ำดีออก (ERCP) ในกรณีที่พบนิ่วในถุงน้ำดีควรผ่าตัดถุงน้ำดีร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- ซีสต์หรือเนื้องอกที่ตับ / ตับอ่อน มักไม่แสดงอาการในช่วงแรก คลำพบก้อน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน กรณีตรวจพบเร็วสามารถผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อลดการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง และลดอัตราการเป็นมะเร็ง
- ท่อน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง อาการสำคัญคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระซีด การผ่าตัดผ่านกล้องโดยตัดส่วนผิดปกติของท่อน้ำดีแล้วต่อลำไส้กับท่อน้ำดีที่ขั้วตับ ช่วยชะลอความเสื่อมของตับ และลดโอกาสเป็นมะเร็งของท่อน้ำดี
5) ไส้ติ่งอักเสบ (APPENDICITIS)
- สาเหตุ เกิดจากมีสิ่งอุดตันหรือต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณท้องหรือเนื้องอก ทำให้ไส้ติ่งอักเสบบวม
- อาการ ปวดจุกแน่นท้องรอบสะดือ แล้วย้ายไปปวดที่ท้องด้านล่างขวา อาจมีไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดมากขึ้น แม้ขยับตัวหรือไอ
- การรักษา การตรวจวินิจฉัยแยกโรคเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งไส้ติ่งมีโอกาสแตกง่ายจากการวินิจฉัยที่ล่าช้าหรือผิดพลาด เนื่องจากอาการปวดใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ อาทิ นิ่วในท่อไต ปีกมดลูกอักเสบ โรคกระเพาะอาหาร หากไส้ติ่งอักเสบหรือแตกใหม่ ๆ สามารถผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน อาทิ คลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ เกิดฝีหนองกลายเป็นลำไส้อุดตัน หรือติดเชื้อในกระแสเลือด จำเป็นต้องใช้ทีมศัลยแพทย์ที่ชำนาญผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อไม่เกิดการบาดเจ็บต่อท่อไต เส้นเลือด หรือเส้นประสาท เป็นต้น
6) เนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (RECTAL CANCER) VS ริดสีดวงทวาร (HEMORRHOIDS)
- กลุ่มเสี่ยง มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือมีอายุ 50ปีขึ้นไป ถ่ายเป็นเลือด ท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายเป็นเม็ด ถ่ายไม่สุด ในระยะแรกมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารภายในจนนำสู่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายได้
- การรักษา โดยทีมแพทย์สหสาขา Multidisciplinary Tumor Boards ร่วมกันวางแผนรักษาโดยใช้รังสีรักษา เคมีบำบัด และการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กรักษาก้อนเนื้อหรือมะเร็งลำไส้ส่วนปลาย เทคนิคเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไว้ Sphincter Saving Surgery โดยไม่ผ่าตัดเปิดหน้าท้องทำทวารเทียมเพื่อขับถ่ายได้ปกติ ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
7) ผ่าลดขนาดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน (BARIATRIC SURGERY)
- กลุ่มเสี่ยง โรคอ้วน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) >35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนอย่างเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ ไขมันพอกตับ เป็นต้น
- การรักษา การผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน เป็นการผ่าตัดแผลเล็กให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กและดูดซึมอาหารได้น้อยลง โดยตัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมความหิวออก นอกจากน้ำหนักที่ลดลงแล้ว ยังทำให้โรคแทรกซ้อนที่มากับโรคอ้วน รวมถึงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น