กอล์ฟเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย มีการฝึกสอนกันตั้งแต่ในวัยเยาว์และเล่นกันได้นานโดยไม่มีการจำกัดอายุ แต่การเล่นกอล์ฟเป็นการเล่นกีฬาที่ไม่ได้ใช้กำลังโดยตรง จัดเป็นกีฬาประเภทเทคนิค ทำให้ในบางครั้งนักกีฬากอล์ฟไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนร่างกายเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
วงสวิงกอล์ฟ
วงสวิงของกอล์ฟแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
-
Backswing
-
Downswing
-
Acceleration and Ball Strike
-
Follow – Through
อวัยวะที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยมือ ข้อมือ หัวไหล่ แขน ลำตัว และขา ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้สามารถได้รับการกระทบกระเทือนจนกระทั่งเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ อวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บมากที่สุดมีความแตกต่างกันไปตามเพศ วัย ความสามารถ และความถี่ในการเล่นกอล์ฟ
การบาดเจ็บในนักกีฬากอล์ฟอาชีพและสมัครเล่น
นักกีฬาสมัครเล่น % ของการบาดเจ็บ
อวัยวะ ชาย หญิง
หลัง 36.0 27.4
ข้อศอกและแขน 32.5 35.5
มือและข้อมือ 21.2 14.5
หัวไหล่ 11.0 16.1
นักกีฬาอาชีพ % ของการบาดเจ็บ
อวัยวะ ชาย หญิง
มือและข้อมือ 29.6 44.8
หลัง 25.0 22.4
หัวไหล่ 11.4 7.5
ข้อศอกและแขน 7.3 6.0
สาเหตุการบาดเจ็บ
สาเหตุของการบาดเจ็บที่พบบ่อย คือ การเล่นมากหรือหนักเกินไป การตีถูกพื้น วงสวิงที่ไม่ถูกต้อง การตีลูกแรงหรือเร็วเกินไป การอบอุ่นร่างกายที่ไม่พอเพียง การบิดหรือหมุนของลำตัวที่ผิด และการเปลี่ยนการจับไม้หรือวงสวิง การบาดเจ็บบริเวณหลังพบได้บ่อยและมีตั้งแต่การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการใช้งานที่มากเกินไป การอักเสบของกล้ามเนื้อเนื่องจากการฉีกขาดในขณะหมุนตัวที่ไม่ถูกต้อง ไปจนกระทั่งการที่กระดูกสันหลังแตกหักในผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนวงสวิงที่ทำให้การหมุนของหัวไหล่และสะโพกเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันสามารถป้องกันการบาดเจ็บประเภทนี้ได้
การบาดเจ็บบริเวณเอ็นด้านในของข้อศอก
การบาดเจ็บบริเวณเอ็นด้านในของข้อศอก (ด้านที่ชิดกับลำตัวในท่ายืดแขนและหงายมือขึ้น) ก็เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬากอล์ฟ โดยจะเกิดขึ้นที่ข้อศอกขวาในคนที่ถนัดขวา เพราะการที่หัวไม้กอล์ฟกระแทกพื้นในการตีลูก จะทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อศอก และทำให้เอ็นในส่วนนี้ต้องทำงานหนัก การบาดเจ็บนี้เกิดขึ้นบ่อยในกีฬากอล์ฟ จนกระทั่งมีการเรียกการบาดเจ็บชนิดนี้ ว่า Golfer’s Elbow ส่วนเอ็นข้อศอกด้านนอกมักจะเกิดการบาดเจ็บที่ข้อศอกซ้ายในคนที่ถนัดขวา เนื่องจากมีการดึงรั้งในขณะขึ้นวงสวิง
การบาดเจ็บที่หัวไหล่
การบาดเจ็บที่หัวไหล่เกิดขึ้นจากการใช้งานที่มากเกินไป ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ทั้งที่กล้ามเนื้อและเอ็นรอบ ๆ หัวไหล่ ส่วนข้อมือนั้นจะเกิดการบาดเจ็บที่เส้นเอ็น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบิดข้อมือระหว่างวงสวิงนั่นเอง
ป้องกันการบาดเจ็บในกีฬากอล์ฟ
การป้องกันการบาดเจ็บในกีฬากอล์ฟสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
-
ใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการเล่น
-
เสริมสร้างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องให้แข็งแรง
-
อบอุ่นร่างกายอย่างถูกต้องและเหมาะสมก่อนการเล่น
เมื่อนักกอล์ฟเริ่มมีอาการเจ็บหรือปวดที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหลังการเล่นกอล์ฟ นักกอล์ฟควรที่จะลดความหนักและความถี่ในการเล่นลง เพื่อให้อวัยวะนั้นได้พัก เพราะการที่มีอาการเจ็บหรือปวดเป็นอาการเริ่มแรกของการบาดเจ็บ การพักเป็นการรักษาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง การที่นักกอล์ฟอาชีพเกิดอาการบาดเจ็บจากการใช้งานร่างกายหนักเกินไปมากกว่านักกอล์ฟสมัครเล่นก็มีสาเหตุมาจากการที่ไม่มีเวลาพักร่างกายที่พอเพียงนั่นเอง
เทคนิคการตีกอล์ฟ
เทคนิคในการตีกอล์ฟหรือวงสวิงที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดหรือป้องกันการบาดเจ็บ เพราะวงสวิงที่ถูกต้องจะทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายมีการประสานกันในทุกส่วนเป็นอย่างดี ทำให้ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายต้องรับแรงกระแทกหรือแรงบิดที่มากเกินไป
การเสริมสร้างกล้ามเนื้อในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมในการใช้งาน พร้อมที่จะรับแรงกระแทกและแรงบิด เป็นการป้องกันกระดูกและเส้นเอ็นต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่หลักหน้าที่หนึ่งของกล้ามเนื้ออยู่แล้ว (นอกเหนือจากหน้าที่ในการเคลื่อนไหว) การเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้องทำทั้งในด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บในกีฬากอล์ฟแล้ว ยังมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปด้วย
อบอุ่นร่างกายก่อนตีกอล์ฟ
การอบอุ่นร่างกายเป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่งที่มักจะถูกละเลยในกีฬากอล์ฟ เพราะคิดว่าไม่ใช่กีฬาที่หนักจึงไม่มีความจำเป็น ในความเป็นจริงแล้วการอบอุ่นร่างกายที่ถูกต้องมีความสำคัญมากพอ ๆ กับการเข้า Address ลูกก่อนตี เพราะถ้าการเตรียมตัวไม่ดี ผลเสียก็ย่อมตามมาอย่างแน่นอน
ตัวอย่างของการอบอุ่นร่างกายสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
-
การเดิน
การเดินเร็ว ๆ เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็เพียงพอที่จะทำให้การสูบฉีดของโลหิตดีขึ้นได้ ทำให้ร่างกายรวมถึงสมองมีการตื่นตัว -
การหมุนคอ
เป็นการคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ ให้หมุนคอไปตามเข็มนาฬิกาช้า ๆ สัก 10 – 20 ครั้ง แล้วค่อยหมุนทวนเข็มนาฬิกาช้า ๆในจำนวนครั้งที่เท่า ๆ กัน -
การยืดไหล่
ถือไม้กอล์ฟในมือทั้งสองข้าง ยืดแขนออกไปข้างหน้าให้ตึง แล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ต้องให้แขนเหยียดสุดตลอดเวลา ค้างไว้ 5 – 10 วินาทีแล้วทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง จากนั้นก็ทำอย่างเดียวกัน แต่ให้ถือไม้กอล์ฟไว้ด้านหลังแล้วยกแขนขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายก็ใช้มือข้างหนึ่งดึงแขนข้างตรงข้ามมาจรดคางแล้วค้างไว้เหมือนเดิม แล้วจึงทำสลับแขนอีกข้างหนึ่ง -
การยืดลำตัว
ควรยืดลำตัวทั้งด้านข้างและบิดลำตัวไปมาช้า ๆ ให้สุด เพื่อยืดกล้ามเนื้อหลัง เป็นการป้องกันไม่ให้มีการยึดตัวของกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวเกินไปจะฉีกขาดง่าย - การฝึกวงสวิง
เป็นขั้นตอนในการตรวจสอบร่างกายว่าไม่มีการเจ็บหรือปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ควรเริ่มสวิงเบา ๆ ก่อนแล้วเพิ่มความแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีอาการปวดก็สามารถเล่นกอล์ฟได้
นักกอล์ฟควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ ถ้ามีการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เพราะการรักษาอาการบาดเจ็บในระยะแรกสามารถทำได้ง่ายและหายเร็ว แต่การรักษาอาการบาดเจ็บที่เป็นมานานจะต้องใช้เวลานานตามไปด้วย จะทำให้นักกอล์ฟเสียโอกาสในการฝึกซ้อมหรือออกรอบไปโดยใช่เหตุ