ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม

4 นาทีในการอ่าน
ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม

“ข้อเข่า” ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนส่งผลกระทบต่อเข่าได้ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองเป็นประจำ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการลื่นหกล้ม ทั้งหมดนี้ต่างส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าได้ทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้


รู้จักข้อเข่า

ข้อเข่า ประกอบด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง ลูกสะบ้า นอกจากนี้ยังมีอวัยวะที่สำคัญอย่าง กระดูกอ่อน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าที่ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า นอกจากนี้ยังมีเอ็นรอบ ๆ ข้อเข่า เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลังที่อยู่ด้านใน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงของเข่าและหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกบริเวณเข่า ช่วยดูดซับและกระจายแรงจากน้ำหนักตัว


ปวดเข่าต้องมีสาเหตุ

อาการปวดเข่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

  1. เส้นเอ็น (Ligament) หากมีการใช้งานซ้ำ ๆ เช่น นักกีฬาที่มีการใช้งานเข่าซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เส้นเอ็นลูกสะบ้าทำงานหนัก ทำให้อักเสบหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬาหรือฝึกซ้อม การกระทบกระแทกรุนแรงจากการแข่งขันกีฬา เกิดการล้มเข่าบิด อาจทำให้เอ็นรอบ ๆ ข้อเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าด้านในฉีกขาด ส่งผลให้เกิดการปวดบวมเข่า ข้อเข่าไม่มั่นคงได้
  2. กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดเข่าได้เช่นกัน ที่พบได้บ่อย เช่น กระดูกอ่อนลูกสะบ้า โดยอาจเป็นร่วมกับเอ็นลูกสะบ้าอักเสบได้ เกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ หรือมีการกระแทกซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดการอักเสบหรือสึกหรอขึ้นบริเวณกระดูกอ่อน หรือจากการงอเข่า นั่งยองเป็นประจำ การใช้งานข้อเข่าในการเดินขึ้นลงบันได ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรวมของสะโพกและขาไม่แข็งแรงมากพอ ก็ส่งผลทำให้คนไข้เกิดอาการปวดเข่าได้ หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกอ่อนอาจจะหลุดร่อนเป็นชิ้นมาขัดในข้อเข่าได้ (Loose Body)
  3. หมอนรองกระดูก (Meniscus) ปัญหาของหมอนรองกระดูกอาจเกิดจากความเสื่อมของเนื้อหมอนรองกระดูกตามการใช้งานตามอายุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา กระดูกอ่อนเกิดการเสียดสีกันไปเรื่อย ๆ เกิดการสึกหรอไปเรื่อย ๆ กลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ทั้งนี้สาเหตุอื่น ๆ เช่น การหกล้มหรือลื่นไถลผิดท่าอาจจะทำให้หมอนรองกระดูกที่มีความเสื่อมอยู่แล้วฉีกขาดรุนแรงมากขึ้นได้  แต่ในคนที่อายุน้อย ไม่ได้มีปัญหาความเสื่อมของหมอนรองกระดูก หากประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกฉีกขาดและมีอาการปวดเข่าได้เช่นกันในทุกเพศทุกวัย
  4. ภาวะข้อเข่าเสื่อม ก็จะมีอาการปวดเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากปวดด้านในข้อเข่า หากอาการเสื่อมเป็นรุนแรงขึ้นก็จะทำให้ปวดทั่ว ๆ หัวเข่าตามมา ซึ่งสาเหตุข้อเข่าเสื่อมอาจจะเกิดจากมีการบาดเจ็บของส่วนต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูก และถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที

ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม
อาการปวดเข่า

อาการปวดเข่า ส่วนใหญ่จะซ้อนทับกัน ไม่สามารถบ่งชี้ลักษณะอาการได้โดยตรงจากภายนอก แพทย์จะประเมินอาการของคนไข้และวินิจฉัยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมด้วย แต่หากสงสัยการบาดเจ็บรุนแรงในข้อเข่า การทำ MRI ประกอบเพิ่มเติมจะช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงและวินิจฉัยอาการได้ตรงตามตำแหน่ง ในกรณีที่คนไข้มีอาการผิดปกติ เช่น

  1. มีอาการเจ็บหรือปวดข้อเข่าผิดปกติ ประสบปัญหาในการเหยียดงอของข้อ มีอาการเหยียดไม่สุด งอไม่เข้า การยืนหรือลงน้ำหนักไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่
  2. มีอาการปวด บวม ร้อนในตำแหน่งข้อเข่า เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการอักเสบของเข่า
  3. มีอาการปวดเรื้อรังไม่หาย ทานยาสามัญประจำบ้านแล้วไม่ดีขึ้น หรือพักขา ลดการเดินหรือกิจกรรมที่ส่งผลต่อข้อเข่าแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์

รักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด

ปัจจุบันการรักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด ใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery ซึ่งเกิดการฉีกขาดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น  ฉีกแหว่ง ฉีกตามยาว หรือฉีกปลิ้นออกมาขัดและเสียดสีอยู่กับกระดูกข้อเข่า ทำให้รู้สึกเจ็บหรือขัดเวลาขยับเข่า ซึ่งการฉีกขาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คนไข้อาจพบเจอกับการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกในหลายรูปแบบหรือรูปแบบใดแบบหนึ่งได้ การรักษาจะใช้วิธีการเย็บซ่อมด้วยอุปกรณ์เย็บผ่านกล้อง โดยแพทย์จะเจาะรูแผลผ่าตัดที่เข่าเล็ก ๆ ประมาณ 2 – 3 รู (ขึ้นอยู่กับลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก) ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ เข่าน้อย คนไข้ฟื้นตัวไว ภายหลังการผ่าตัดรักษาแพทย์จะให้คนไข้ทำกายภาพฟื้นฟู ลดอาการปวดบวม บริหารกล้ามเนื้อขาโดยรวม ฝึกการเหยียดงอเข่า ฝึกการเดิน หรืออาจใช้เครื่อง Alter – G เข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อและปรับสมดุลการเดิน ทั้งนี้โปรแกรมการทำกายภาพและการออกกำลังกายของคนไข้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเป็นสำคัญ


ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม
ป้องกันปวดเข่า

การป้องกันอาการปวดเข่าสามารถทำได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คนที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยง เช่น งอเข่า นั่งยอง คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจฝึกการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อต้นขาและสะโพก ได้แก่

  1. ท่าเหยียดขาตรง (Straight Leg Raising) นั่งเก้าอี้ให้หลังตรง ยกขาขึ้น เข่าเหยียดตรงไม่งอ ค้างไว้ นับ 1 – 10 ต่อเซ็ต จะได้การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา
  2. สควอช (Squat) กางขาสองข้างระดับหัวไหล่ สามารถยกแขนเพื่อบาลานซ์ตัว หลังตรงเกร็งหน้าท้อง หย่อนก้นและย่อเข่าลงมา พยายามให้หัวเข่าไม่เลยเกินปลายเท้า ย่อเข่าลง 90 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการปวดเข่าแนะนำให้ย่อเข่าลงเพียง 45 – 60 องศาที่เรียกว่า ฮาร์ฟสควอช (Half Squat) ทำ 10 ครั้งต่อเซ็ต
  3. ท่าย่อขา (Lunges) เป็นท่าบริหารโดยการย่อขา เพื่อบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกคล้ายกับการสควอช แต่ใช้การก้าวมาด้านหน้าและย่อเข่าสลับกัน  เป็นต้น


อาการปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ปัญหาจากโรคข้อเข่าเสื่อมแต่เพียงอย่างเดียว หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุ


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด