เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (ACL) รีบรักษาก่อนเข่าเสื่อม

3 นาทีในการอ่าน
เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (ACL) รีบรักษาก่อนเข่าเสื่อม

หนึ่งในอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาฟุตบอลเป็นกันมากรองจากข้อเท้าคือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัวแล้วเกิดการเสียหลักล้ม อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล แบตมินตัน สกี เป็นต้น ซึ่งการรักษาต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติหรือสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดควรรีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาโดยเร็วเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม

ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้าเข่า

เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นหนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนกลางของข้อเข่า ช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว มีหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาดจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop) มีอาการเข่าบวมและเลือดออกในหัวเข่า ต้องรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด หากต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นจะต้องรักษาควบคู่การทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดนั้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้เข่าเสื่อมก่อนวัย


สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

  1. การบาดเจ็บที่เกิดจากการปะทะ 
    เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในผู้ที่มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ได้แก่
    • การบิดของเข่าเมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ
    • การกระโดดหรือรีบยกเท้า

  2. การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ 
    มักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บ แต่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือสะสมมากกว่าเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดในทันที

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้หน้าเข่า การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

  • นอนนิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับ รอคนมาช่วย
  • ประคบเย็นให้เร็วที่สุด
  • ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า โดยค่อย ๆ ลงน้ำหนัก
  • สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็นดังป๊อปขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
  • ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายึดให้แข็งแรง
  • หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือแพทย์

photo

การรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับการรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด แพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เอกซเรย์ หรือทำ MRI Scan โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการเข่าบวมทันที บ่งบอกว่าอาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก จากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีกจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์มักทำการใส่เฝือกอ่อนและให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ จนเมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดลง แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขในลำดับต่อไป


ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดมีแรงดึงในตัวเอ็น ส่งผลให้เมื่อฉีกไปแต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ การสมานของเอ็นด้วยตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง เพราะ

  • ได้ผลดี
  • หายเร็ว  
  • งอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก
  • ฟื้นตัวไวเมื่อทำกายภาพบำบัด
  • โดยในการเดิน การใช้ไม้ค้ำยันจะแตกต่างตามอวัยวะที่บาดเจ็บ มีตั้งแต่ไม่ใช้เลยจนถึงใช้เต็มที่ 4 สัปดาห์ 

ฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดด้วย Alter-G

การฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดคือสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องออกกำลังเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้ปอดและหัวใจทำงานเต็มที่ เสริมสร้างความฟิตจากการใช้ออกซิเจนสร้างพลังงาน เพื่อช่วยให้ขยับเดินได้เร็ว ช่วยฟื้นฟูนักกีฬาหรือผู้ป่วยหลังผ่าเข่าและข้อเท้า รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากให้ร่างกายแข็งแรง โดย Alter-G (Anti – Gravity Treadmill) ลู่วิ่งในสภาวะไร้น้ำหนัก คือ เครื่องกายภาพบำบัดที่ออกแบบให้มีอุปกรณ์คล้ายถุงลมเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายไว้สูงสุดถึง 80% ของน้ำหนักตัว เวลาวิ่งจึงมีน้ำหนักตัวลงในบริเวณที่เป็นปัญหาเพียง 20% เท่านั้น ช่วยให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะลงน้ำหนัก เสมือนเดินในลูกบอลลูน

Anti-gravity-Treadmill-Alter-G-ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง

นักกีฬาและผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจต้องหยุดเล่นกีฬาในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของการรักษา ประกอบกับความเข้าใจในกลไกเข่าที่มากขึ้น ทำให้สามารถแก้ไขให้กลับไปใช้งานใกล้เคียงเดิมได้ แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นสำหรับนักกีฬาควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การวอร์มอัพร่างกายที่ดีและนานเพียงพอ สภาพพื้นสนาม รองเท้า ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น ตลอดจนปัจจัยภายในเข่า นั่นคือ การบาดเจ็บในอดีต กล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกับการป้องกันการบาดเจ็บของเข่าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด