อาการถ่ายเป็นเลือด อาจเสี่ยงริดสีดวงหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

5 นาทีในการอ่าน
อาการถ่ายเป็นเลือด อาจเสี่ยงริดสีดวงหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

หากขับถ่ายแล้วมีเลือดออก หลายคนมักคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร ไม่ทันคาดคิดว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทั้งที่บางอาการอาจมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นควรหมั่นสังเกตและไม่ควรชะล่าใจในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ถูกวิธีก่อนสายเกินแก้ 

 

ริดสีดวงทวารหนัก

เมื่อสังเกตว่ามีเลือดออกปนมากับอุจจาระ คนส่วนใหญ่อาจคิดเอาเองว่าเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งริดสีดวงทวารหนักคือ กลุ่มของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักที่มีลักษณะโป่งพอง โดยปกติ ริดสีดวงทวารหนัก จัดเป็นอวัยวะอันหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid) ตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน ส่วนริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ อาจมีอาการเจ็บปวด อาการของโรคอาจพบได้ตั้งแต่รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณทวารหนัก คลำได้ก้อน อาการปวด อาการคัน หรืออาจมีเลือดสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดทำความสะอาด พบเลือดในโถส้วมหรือปนออกมากับอุจจาระ 

 

มะเร็งลำไส้ตรง

แต่สำหรับมะเร็งลำไส้ตรงหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectal Cancer) คือมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ใกล้กับทวารหนัก พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคอาจแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซึ่งอาการแสดงขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน และตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่พบ 

อาการของริดสีดวงทวารที่แตกต่างจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือ ถ่ายเป็นเลือด อาจคลำได้ก้อนเนื้อในรูทวารหนัก อาจมีก้อนเนื้อปลิ้นและยุบกลับเข้าไปทวารหนักได้ (มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะไม่มีก้อนเนื้อปลิ้นออกมา) อาจมีอาการปวดก้น (มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะไม่มีอาการปวดก้น) ถ่ายไม่ค่อยออก ต้องเบ่ง หรือถ่ายบ่อย คันหรือระคายเคืองรอบปากทวารหนัก เจ็บ เป็นต้น 

 

ถ่ายเป็นเลือด, ริดสีดวง, มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

 

วิธีการรักษา

การรักษาโรคริดสีดวงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย 2 วิธีหลักใหญ่ ๆ ได้แก่ การผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แต่ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นวิธีที่ช่วยแยกโรคให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม ปกติแล้วหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดจะเป็นตัวที่ช่วยในเรื่องของการกลั้น หรือการขับถ่าย หากก้อนมะเร็งอยู่ตรงบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด แพทย์จะทำการล้วงเข้าไปบริเวณทวารเพื่อตรวจตำแหน่งของก้อนมะเร็ง จากนั้นทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากเป็นวิธีการรักษาแบบเดิม แพทย์อาจต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดออกไปด้วยเพื่อให้สามารถตัดก้อนออกได้หมด ซึ่งจะทำให้คนไข้ต้องใช้การขับถ่ายผ่านถุงทางหน้าท้องไปตลอดชีวิต 

แต่ด้วยความก้าวหน้าเทคโนโลยีและประสบการณ์ของแพทย์ผู้ชำนาญการ ในปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (Sphincter Saving Surgery) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ต้องขับถ่ายผ่านทางถุงหน้าท้องไปตลอดชีวิต การผ่าตัดในรูปแบบนี้จะใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นหลัก ซึ่งการผ่าตัดเก็บกล้ามเนื้อหูรูดต้องอาศัยความร่วมมือกันของแพทย์ผู้ชำนาญการและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการร่วมกันวิเคราะห์โรคและสรุปแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร อายุรแพทย์มะเร็ง รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา พยาธิแพทย์ จะทำให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคนี้ด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา จะเพิ่มโอกาสการผ่าตัดเก็บกล้ามเนื้อหูรูดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ไม่ต้องใช้การขับถ่ายผ่านถุงหน้าท้อง 

 

ตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่

หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือมีอาการผิดปกติที่บริเวณช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อาทิ มีแผลที่ทวารหนักในผู้ป่วยท้องผูก โรคถุงผนังลำไส้ หรือมีหลอดเลือดที่ผนังลำไส้ผิดปกติ ฯลฯ  ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ๆ อาทิ พันธุกรรม อายุที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่า 45 – 50 ปีขึ้นไป เป็นโรคอ้วน ชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด  มีการตรวจเลือด และตรวจรายการอื่นเพิ่มเติม อาทิ การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคภาพเสมือน (CT Colonoscopy) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)  และตรวจดูระดับของคาร์ซิโนเอมบริโอนิก แอนติเจน (Carcinoembryonic Antigen หรือ CEA) เพื่อบอกพยากรณ์โรคและใช้ติดตามการรักษา หากแพทย์มีความสงสัยจะส่งพิสูจน์โรคจากการตัดชิ้นเนื้อและการประมาณระยะของโรคทางคลินิกด้วยภาพถ่ายรังสีเป็นขั้นตอนการประเมินโรคในเบื้องต้นที่มีความสำคัญ ทั้งนี้การประมวลผลการตรวจและการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขาจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สุด 

 

บทบาทของรังสีรักษา

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะใช้การผ่าตัดเป็นวิธีหลัก โดยจะใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมหรือร่วมกับการผ่าตัด  ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจทวารหนัก เมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติก็จะตัดเอาชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิ ถ้าผลรายงานชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจเพื่อจัดระยะของรอยโรคซึ่งมีการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) หรืออาจใช้เพทซีที (PET/CT Scan) สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ในระยะเริ่มแรก (คือระยะที่ 1 – 2) อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามะเร็งลุกลามทะลุถึงชั้นเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบลำไส้ใหญ่ (Serosa Layer) หรือลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานก็จำเป็นต้องใช้การรักษาแบบผสมผสาน ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด สำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีในอดีต การฉายรังสีมักจะตามหลังการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่า การฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดจะช่วยลดขนาดของก้อนและลดระยะของรอยโรค ทำให้เพิ่มโอกาสในการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด และเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีรอยโรคอยู่ใกล้กับหูรูดของทวารหนัก นอกจากนี้การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่อกระเพาะปัสสาวะและลำไส้เล็กในอุ้งเชิงกรานก็ลดลง โอกาสเกิดการกำเริบของโรคในช่องเชิงกรานน้อยลง 

เทคนิคการฉายรังสีในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) และ / หรือเพทซีทีสแกน (PET/CT Scan) มาช่วยในการกำหนดขอบเขตของการรักษาด้วยรังสี ใช้เพื่อการคำนวนและการวางแผนการรักษาทางรังสี จากเดิมที่การฉายรังสีเป็นแบบสองมิติ ซึ่งมีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่น กระเพาะปัสสาวะ  ลำไส้เล็ก และไขกระดูก ปัจจุบันสามารถวางแผนการฉายรังสีสามมิติรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฉายรังสีสามมิติแบบปรับความเข้มรังสี (IMRT) การฉายรังสีปรับความเข้มเชิงปริมาตรแบบหมุนรอบตัว (VMAT) ร่วมกับการใช้ภาพนำวิถี (IGRT) ในการฉายรังสี ทำให้รักษาได้อย่างชัดเจน สะดวก และรวดเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาวต่ออวัยวะในช่องเชิงกราน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น

 

หากสังเกตเห็นเลือดออกจากทวารหนักควรตื่นตัวและเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากพบว่าเป็นมะเร็งจะได้ทำการรักษาทันทีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. สรินดา เลิศบรรณพงษ์

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
พญ. สรินดา เลิศบรรณพงษ์

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
พญ. พนิดา ทองอุทัยศรี

อายุรศาสตร์

พญ. พนิดา ทองอุทัยศรี

อายุรศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
ศ.(พิเศษ) ดร. นพ. อัฑฒ์ หิรัณยากาศ

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ศ.(พิเศษ) ดร. นพ. อัฑฒ์ หิรัณยากาศ

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล