ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังระดับน้ำตาลในเลือดมากเป็นพิเศษ เพราะหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคเบาหวานเมื่อตั้งครรภ์จะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธี
ประเภทของเบาหวาน
เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนการตั้งครรภ์ (Pregestational / Overt DM) คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
มีรายงานว่าผู้หญิงที่เป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ได้แก่
- ครรภ์เป็นพิษ ร้อยละ 27
- การแท้ง ร้อยละ 24
- ทารกตัวโตกว่าปกติ ร้อยละ 13
- คลอดก่อนกำหนด ร้อยละ 6
- ทารกเสียชีวิตขณะคลอดและหลังคลอด ร้อยละ 6
2) เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ (Gestational DM) เป็นเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งนับเป็นร้อยละ 90 ของเบาหวานที่พบในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจเป็นเบาหวานที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรืออาจเป็นเบาหวานซึ่งปรากฏออกมาครั้งแรกเนื่องจากการตั้งครรภ์
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยที่มีประวัติคลอดเด็กน้ำหนักมาก
- ผู้ป่วยที่มีประวัติคลอดเด็กเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
ความเสี่ยงจากเบาหวานเมื่อตั้งครรภ์
- ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและอัตราการผ่าตัดคลอดอาจเพิ่มขึ้น
- ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) หมายถึง ทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในแม่ ซึ่งมักเกิดในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ทำให้น้ำตาลในทารกสูงด้วยไปกระตุ้นให้ตับอ่อนสร้างอินสุลินมากขึ้น
การตรวจวินิจฉัย
- การซักประวัติ
- ประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว
- ประวัติความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น คลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม มีประวัติทารกตายคลอด หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุในขณะตั้งครรภ์
- การตรวจร่างกาย
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และคำนวณดัชนีมวลกาย
- ตรวจครรภ์พบว่าครรภ์ใหญ่กว่าปกติ หรือพบครรภ์แฝดน้ำ (Hydramnios)
- ตรวจพบความผิดปกติของระบบต่าง ๆ จากเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
- ตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT
ตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยง
การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยในผู้หญิงตั้งครรภ์ในปัจจุบันมีหลายองค์กรได้เสนอแนวทางการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้การเลือกใช้ขึ้นกับความเหมาะสมและคุ้มค่าที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ยึดตามแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก(WHO) ในปี 1999 และ American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ในปี 2001 การตรวจคัดกรองสามารถทำในผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกราย (Universal Screening) หรือทำเฉพาะรายที่มีความเสี่ยง ขึ้นกับความชุกของเบาหวานในแต่ละแห่ง ที่มีความชุกสูงให้ทำทุกราย ทำการตรวจแบบ 2 ขั้นตอน (2 Step Screening) โดยเริ่มจากการประเมินความเสี่ยงตามแนวปฏิบัติ ดังนี้
ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงควรตรวจคัดกรองให้เร็วที่สุด ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ได้แก่
- โรคอ้วน
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีน้ำตาลในปัสสาวะ
- มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน
ตรวจแบบ 2 ขั้น
วิธีการตรวจแบบ 2 ขั้น (Two Step Screening) ได้แก่
- การตรวจคัดกรองด้วย 50 กรัม Glucose Challenge Test ให้รับประทานกลูโคสขนาด 50 กรัม ขณะอายุครรภ์ที่ 24-28 สัปดาห์ โดยไม่คำนึงถึงมื้ออาหารที่ผ่านมา ถ้าระดับ Plasma glucose เท่ากับ 140 มก./ดล.หรือมากกว่า ถือว่าผิดปกติ ถ้าผิดปกติให้ตรวจวินิจฉัยต่อด้วย 100 กรัม OGTT
- การตรวจวินิจฉัยด้วย 100 กรัม Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) โดยทำการเจาะเลือดขณะอดอาหารและหลังให้รับประทานกลูโคส 100 กรัม ที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ เกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัย คือ
- ขณะอดอาหารก่อนกลืนน้ำตาล 100 grams น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 95 mg/dL
- หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 1 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 180 mg/dL
- หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 2 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 155 mg/dL
- หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 3 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 140 mg/dL
***หากตรวจพบความผิดปกติ >= 2 ค่า ของ 100 กรัม-OGTT ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ดูแลเบาหวานเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์
เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์แนะนำให้พบนักกำหนดอาหาร โดยให้รับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ลดอาหารจำพวกแป้ง เพิ่มการรับประทานไฟเบอร์ เพิ่มการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
นอกจากนี้แนะนำให้เจาะระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยระดับน้ำตาลก่อนอาหารควรจะน้อยกว่า 95 mg/dL และหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลควรจะน้อยกว่า 120 mg/dL เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดในภายหลัง
เบาหวานหลังการตั้งครรภ์
หลังคลอดผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้ประมาณ 3 – 20 % แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง และหมั่นออกกำลังกาย ซึ่งจะสามารถป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตได้