ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

8 นาทีในการอ่าน
ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

สำหรับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี หลังผ่าตัดแล้วจำเป็นจะต้องดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

วิธีปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

หลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  1. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะถูกย้ายไปยังห้องพักฟื้น โดยมีการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจน ความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด แพทย์จะไปเยี่ยมผู้ป่วย รายงานผลการผ่าตัด และตอบคำถามที่สงสัย
  2. หายใจลึก ๆ หลังผ่าตัดช่วยและป้องกันโรคปอดบวมได้ ผู้ป่วยควรหายใจเข้าลึก ๆ 5 – 10 ครั้ง และกลั้นไว้
    ทุก ๆ ชั่วโมง
  3. ไม่ควรนอนอย่างเดียว ควรนั่ง และถ้าไม่มีอาการปวดหัวให้ขยับและเดินไปรอบ ๆ เตียงและทำกิจกรรมตามปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อปรับปรุงการไหลเวียนโลหิตและป้องกันลิ่มเลือด ผู้ป่วยควรลุกขึ้นเดิน 5 – 6 ครั้งต่อวันหลังผ่าตัด
  4. ใช้มือหรือหมอนพยุงบริเวณที่ทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการปวด
  5. สังเกตภาวะแทรกซ้อนที่บริเวณแผล หากมีอาการปวด บวม หรืออักเสบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  6. อย่ารอจนความเจ็บปวดถึงระดับสูงสุดหรือทนไม่ได้ก่อนที่จะบอกแพทย์และพยาบาล เพราะการควบคุมความเจ็บปวดตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำได้ง่ายกว่า
  7. หลังผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) ซึ่งแก๊สถูกแทรกเข้าไปในช่องท้อง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ามีลมบางส่วนอยู่ใต้ผิวหนังซึ่งจะหายไปเอง บางครั้งจะรู้สึกเจ็บที่ไหล่มักหายได้เองใน 1 – 2 วัน การเคลื่อนไหวและการเดินช่วยลดความเจ็บปวดได้
  8. โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีกรณีที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อน จะมีนัดติดตามการรักษากับศัลยแพทย์ 1 – 2 ครั้ง ภายใน 2 – 3 สัปดาห์หลังผ่าตัด 

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

  • หลีกเลี่ยงอาการท้องผูก รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ไม่เบ่งขณะขับถ่าย ดื่มน้ำ 8 – 10 แก้วต่อวัน
  • ค่อย ๆ เพิ่มกิจกรรม ลุกขึ้นและเดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา
  • ห้ามยกของหนักเกิน 6 กิโลกรัม หรือออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 4 – 6 สัปดาห์
  • รักษาบาดแผลให้สะอาดและปฏิบัติตามคำแนะนำของศัลยแพทย์ว่าควรเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อใด
  • แผลอาจซึมเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติ หากแผลเปียกชุ่มให้ติดต่อศัลยแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าคับหรือหยาบ เพราะอาจเสียดสีบริเวณแผลและทำให้แผลหายยากขึ้น

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ปรับพฤติกรรมการกิน

หลายคนที่กังวลเมื่อไม่มีถุงน้ำดี ไม่ต้องกังวลเพราะสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้โดยไม่มีถุงน้ำดี ตับสร้างน้ำดีเพียงพอที่จะย่อยอาหาร แต่แทนที่จะเก็บไว้ในถุงน้ำดี น้ำดีที่มาจากตับจะค่อย ๆ ไหลเข้าสู่ลำไส้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งจะมีผลคล้ายยาระบาย ปริมาณไขมันที่กินต่อมื้อจึงมีผล ถ้าปริมาณไขมันน้อยกว่าจะย่อยได้ง่ายกว่า ในขณะที่ปริมาณมากอาจยังไม่ย่อยและทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด และท้องร่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนแรก ๆ หลังการผ่าตัด จึงควรพยายามรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์

 เคล็ดลับการกินหลังผ่าตัดถุงน้ำดี ได้แก่

  1. ค่อย รับประทานตามความรู้สึก วันแรกหลังผ่าตัดให้เริ่มจากอาหารเหลว ซุป และอาหารอ่อน ๆ ช่วงสัปดาห์แรกควรทานอาหารย่อยง่าย หลังจากนั้นเริ่มกินอาหารได้ตามปกติ ตามความรู้สึกว่ามีอาการอืดแน่นท้องหรือไม่
  2. กินอาหารที่มีคุณภาพมื้อเล็กและบ่อยขึ้น โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 – 6 มื้อ เพิ่มจำนวนมื้อ แต่ลดปริมาณในแต่ละมื้อลง ช่วยให้ย่อยอาหารได้สมบูรณ์ เพราะมีน้ำดีปริมาณจำกัด หลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก เพราะอาจทำให้จุกแน่นได้ อาหารเพื่อสุขภาพควรมีโปรตีนคุณภาพดีเพิ่มขึ้น เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ปราศจากไขมัน ควบคู่ไปกับผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟและชา อาหารที่มีรสเผ็ดมาก ๆ
  3. ลดอาหารไขมันสูงช่วยเลี่ยงอาการท้องอืดท้องเสีย สามารถกินอาหารมันได้ เนื่องจากร่างกายต้องการกรดไขมันที่จำเป็น แต่ให้ลดปริมาณลง เพราะอาจทำให้ปวด ท้องอืด และท้องร่วงได้ เลือกกินไขมันที่ดี เช่น ไขมันจากปลา ปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันปริมาณมาก เช่น อาหารทอด อาหารมัน ชีส นม พิซซ่า ไขมันทรานส์ เป็นต้น รับประทานไขมันไม่เกิน 30% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน (ไขมัน 60 กรัม) อย่าลืมอ่านฉลากอาหารอย่างระมัดระวัง อาหารไขมันต่ำคืออาหารที่มีไขมันไม่เกิน 3 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค
  4. ค่อย เริ่มรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงอีกครั้ง พิจารณาเพิ่มการรับประทานอาหารเส้นใยสูงที่ผลิตก๊าซอย่างช้า ๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ปกติ แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสีย ปวดท้อง และท้องอืดได้ 
  5. จดบันทึกอาหาร หลังการผ่าตัด ช่วยติดตามสิ่งที่กินและผลกระทบ ทำให้รู้ว่าสามารถกินอะไรได้สบายและกินไม่ได้ หลายคนสามารถกลับไปรับประทานอาหารตามปกติได้ภายใน 1 เดือนหลังการผ่าตัด

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ปรับพฤติกรรมออกกำลังกาย

สำหรับผู้ที่ผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีแบบผ่านกล้องจะฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายโดยประเมินสมรรถภาพด้วยผู้ชำนาญการตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังผ่าตัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปทำงาน หรือกลับไปเล่นกีฬาที่ชอบได้เร็วยิ่งขึ้น

  • ออกกำลังกายช่วงขา
    เมื่อกลับจากโรงพยาบาล สิ่งสำคัญคือต้องลุกขึ้นและเดินไปรอบ ๆ บ้าน สามารถเดินขึ้นบันไดโดยใช้ราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวทุกครั้ง การนอนนิ่ง ๆ ไม่ขยับขานาน ๆ ถ้าเลือดไม่สามารถไหลเวียนปกติ อาจเกิดอันตรายได้ ลิ่มเลือดอาจวิ่งไปยังหัวใจแล้วอุดตันเส้นเลือดที่ปอด ควรฝึกกระดกข้อเท้า หมุนข้อเท้า ยกเข่า ทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำบริเวณน่อง 
  • ฝึกการหายใจลึกๆ
    หากได้รับอุปกรณ์ฝึกหายใจจากโรงพยาบาลให้ใช้ต่อไปตามคำแนะนำเป็นเวลา 3 – 5 วัน หรือต้องฝึกหายใจลึก ๆ 4 – 5 ครั้งต่อชั่วโมงเพื่อช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดี ป้องกันปอดติดเชื้อ หากมีอาการไอให้ใช้หมอนกดบริเวณหน้าท้องเบา ๆ ขณะไอ เพื่อช่วยลดแรงสะเทือนจากการไอ ทำให้ปวดแผลลดลง
  • ฝึกลุกขึ้นจากเตียงอย่างถูกวิธี
    การลุกจากเตียงแบบรวดเร็วอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดวิงเวียนล้มลงได้ 3 ท่าลุกจากเตียงแบบถูกวิธีเป็นท่าง่าย ๆ คือ พลิกตัว นอนตะแคง งอเข่า ต่อด้วยใช้มือทั้งสองข้างยันตัวให้ลุกขึ้น ค่อย ๆ ยกขาทั้งสองห้อยลงข้างเตียง จากนั้นยันตัวลุกขึ้น นั่งตรง แล้วยืนขึ้น
  • ทำกิจกรรมที่เหมาะกับช่วงเวลา
    ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก สามารถเดินระยะทางสั้น ๆ อย่าขับรถอย่างน้อย 5 – 7 วันหลังการผ่าตัด ก่อนขับรถให้ลองคาดเข็มขัดนิรภัย เหยียบเบรกเต็มที่ หมุนพวงมาลัยจนสุดดูก่อนว่ามีอาการปวดตึงหรือไม่ หลัง 2 สัปดาห์อาจเริ่มขี่จักรยาน วิ่งจ็อกกิงเพื่อออกกำลังกายได้ ห้ามยกของหนักเกิน 6 กิโลกรัม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใด ๆ ที่ทำให้เจ็บแผล หลังผ่าตัดได้ 1 เดือนจึงสามารถออกกำลังกายได้ปกติ รวมถึงการยกของหนัก เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ตัดหญ้า โดยค่อย ๆ เริ่มอย่าหักโหมเกินไป
  • ผู้ชำนาญเฉพาะทางช่วยท่านได้
    สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ออกกำลังกายประจำอาจต้องใช้โปรแกรมหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัยในการฟื้นฟูทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อให้กลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยเร็วที่สุด ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูความแข็งแรงอย่างเหมาะสม 

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ปรับพฤติกรรมพักผ่อน

หลังผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีควรปรับพฤติกรรมการพักผ่อน ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ควรพักผ่อนให้เพียงพอโดยเฉพาะ 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดและจำเป็นต่อร่างกายอย่างยิ่ง  นอนวันละ 8 – 10 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการนอนดึกและการดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนนอน ถ้ามีอาการปวดให้กินยาแก้ปวดที่แพทย์สั่งก่อนนอน การพักผ่อนที่เหมาะสมทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว อาจต้องลางานอย่างน้อยประมาณ 5 – 7 วัน จนกว่าจะแน่ใจว่าสามารถทำงานได้
  • เบี่ยงเบนความสนใจ โฟกัสกิจกรรมอื่น ๆ แทนความไม่สบายหลังผ่าตัด เช่น ฟังเพลง เล่นเกม เล่นโซเชียล ทำให้ลดอาการปวดและวิตกกังวลได้
  • จินตนาการช่วยได้ จินตภาพบำบัดเป็นการสร้างความคิดและภาพลักษณ์เชิงบวกขึ้นในใจแล้วสื่อไปยังร่างกาย กำลังใจที่ดีลดการปวดและอาการไม่สบายได้ เป็นส่วนเสริมของการรักษาบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การหลับตา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายใจเข้าออกลึก ๆ นึกถึงภาพที่อยู่ในที่ ๆ มีความสุขและควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้จิตใจสงบ 

พฤติกรรมที่ต้องลด ละ เลิก

พฤติกรรมที่ควรลด ละ เลิกหลังผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

  • หยุดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 3 – 6 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำให้การหายใจของผู้ป่วยเป็นปกติระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้หัวใจของผู้ป่วยทำงานหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายระหว่างการผ่าตัด นอกจากนี้ยังทำให้แผลผ่าตัดหายช้าอีกด้วย
  • เลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ช่วงผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงงดเครื่องดื่มเกลือแร่ เพราะมีโซเดียมที่ทำให้อาการบวมลดลงได้ยากขึ้น อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารประเภทหมักดอง และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดความวิตกกังวลและความเครียดช่วงผ่าตัด โดยซักถามแพทย์ในสิ่งที่สงสัย ผลดีและผลเสียของการผ่าตัด และการระงับปวดอย่างละเอียด ทำจิตใจให้สบาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภายหลัง

จุดสังเกตหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

อาการผิดปกติที่ควรปรึกษาแพทย์ทันที

  • ปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนรุนแรง
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ไม่ถ่ายอุจจาระหลังผายลมนานเกิน 3 วันหลังการผ่าตัด
  • อาการท้องร่วงที่กินเวลานานกว่า 3 วันหลังการผ่าตัด
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ERAS โปรแกรมฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดนิ่ว

โปรแกรมมาตรฐานสากลที่ช่วยเร่งให้การผ่าตัดฟื้นตัวเร็วเรียกว่า ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) แนวทางการดูแลรักษาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังผ่าตัดรักษาและส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด โดยการลดภาวะเครียดจากการผ่าตัด จัดการความปวดอย่างเหมาะสม การรับประทานอาหารและเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มแรกช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง 

ทั้งนี้การดูแลด้วย ERAS จะถูกปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) เช่น แพทย์สาขาต่าง ๆ พยาบาล เภสัชกร ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักโภชนาการ รวมถึงตัวผู้ป่วยเองมาร่วมกันเป็นทีม ประสานงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา

กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจพิเศษเพิ่มเติมในรายที่จำเป็น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดอย่างครบถ้วนโดยทีมศัลยแพทย์และพยาบาล 

ในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัวหลายโรคจะได้รับการทบทวนโดยประชุมแพทย์เพื่อออกแบบการผ่าตัด มีการประเมินและดูแลรักษาโรคประจำตัว เช่น การแก้ไขภาวะซีด, ภาวะโภชนาการ, หยุดสูบบุหรี่, ระดับน้ำตาล เป็นต้น มีการประเมินโดยทีมอายุรแพทย์และฝึกออกกำลังกายโดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีการทบทวนรายการยากลุ่มเสี่ยงโดยเภสัชกร และให้ผู้ป่วยอดอาหารน้อยที่สุดก่อนผ่าตัดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอยู่ในภาวะที่พร้อมที่สุดตั้งแต่ก่อนการผ่าตัดและลดการตอบสนองต่อการบาดเจ็บในช่วงระหว่างผ่าตัดให้มากที่สุด

ระหว่างผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีต้องมีการวางแผนการผ่าตัดอย่างละเอียด ส่วนมากสามารถส่องกล้องผ่าตัดผ่านแผลเล็กเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การผ่าตัดราบรื่น เสียเลือดน้อย เช่น การใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดความคมชัดสูงแบบ 4K หรือการฉีดสี Indocyanine Green (ICG) เพื่อดูตำแหน่งท่อน้ำดีหลัก หลีกเลี่ยงโอกาสบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง ทางแพทย์วิสัญญีจะวางแผนร่วมกันเพื่อลดอาการปวดอย่างเต็มที่ โดยใช้หลายเทคนิคร่วมกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบและยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนน้อยลง  นอกจากนี้ยังป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด ควบคุมอุณหภูมิ และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมด้วย

หลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีต้องจัดการความปวดอย่างดี ป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วยยาที่ทันสมัย ถ้ามีสายปัสสาวะและท่อต่าง ๆ ให้เอาออกโดยเร็ว สามารถรับประทานอาหารได้ตั้งแต่ระยะแรก การเคลื่อนตัวของลำไส้ที่เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัว รับประทานอาหาร และกลับบ้านได้เร็วขึ้น นักโภชนาการจะดูแลและตอบคำถามอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวร่างกายล่าช้าหลังผ่าตัดจะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำและภาวะแทรกซ้อนทางระบบการหายใจ ดังนั้นทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะช่วยกระตุ้น และแนะนำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวที่ข้างเตียงผู้ป่วยตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด จนเมื่อกลับบ้านพยาบาลจะทำการนัดพบแพทย์และให้ช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เภสัชกรจะทบทวนและแนะนำยาที่ได้รับกลับบ้านทั้งหมดอีกครั้ง


การบูรณาการการรักษาโดยทีมสหสาขาช่วยให้ผลการรักษาได้มาตรฐานเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้วยังมีทีมที่คอยช่วยเหลือหลังผ่าตัดจนกว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ทุกเดือนจะมีการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ตามแนวทางปฏิบัติแบบ ERAS ผู้ป่วยสามารถมั่นใจได้ว่าการรักษาจะประสบความสำเร็จและฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว


 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด